วันจันทร์, 23 ธันวาคม 2567

กาญจนบุรี”ชาวบ้านออกมาคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าชุมน

กาญจนบุรี เกิดอะไรขึ้นชาวบ้านออกไปคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าชุมชน!! ทั้งๆที่หน่วยงานรัฐยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ หลายชุมชนออกไปคัดค้านไม่เอากันแล้วอย่างเช่นชาวบ้านหนองหญ้าคัดค้าน โรงงานไฟฟ้าชีวมวล ยื่นหนังสือผ่าน รองผู้ว่าฯ นายอำเภอเมือง หัวหน้าศูนย์ดำรงธรรม ถึงหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง

วันที่ 8 กรกฎาคม 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดกาญจนบุรี ตำบลปากแพรก อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี ได้มีชาวบ้านจำนวนหนึ่ง เดินทางมายื่นหนังสือเพื่อคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล โดยมี นายสันติ เหมพันธ์ กำนันตำบลหนองหญ้า นายมานะ เขียวทอง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 2 ตำบลหนองหญ้า สุขุม มีพันธ์แสง แกนนำ ประธานบริษัทอมตะเกาะลันตารีสอร์ท และสวนอาหารเกาะลันตาสุวรรณภูมิ เป็นแกนนำคัดค้านโรงงานไฟฟ้าชีวมวล ตำบลหนองหญ้า อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี โดยการนำเอกสารรายชื่อชาวบ้านทั้งหมดที่คัดค้านมาในครั้งนี้โดยมี นายสมยศ ศีลปิโยดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี นายวิทูรย์ สิรินุกูล นายอำเภอเมืองกาญจนบุรี พร้อมด้วยนายวีระ หิรัญกุล ปลัดอาวุโสอำเภอเมืองกาญจนบุรี นายสุเทพ แก้วทอง หัวหน้าศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดกาญจนบุรี ได้เดินทางมาพบประชาชน และได้มีการรับหนังสือร้องคัดค้านการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าชีวมวล ซึ่งนายสมยศ ศีลปิโยดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ได้กล่าวกับตัวแทนชาวบ้านว่าตนเองจะเร่งดูแลเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน หากชาวบ้านมีอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้มาแจ้งตนเองหรือกับผู้นำท้องถิ่นได้ทันที

ส่วน นายสันติ เหมพันธ์ กำนันตำบลหนองหญ้า กล่าวว่า เนื่องด้วยคณะทำงานของกลุ่มชาวบ้านหนองหญ้า ได้ทราบว่าจะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล ในพื้นที่หมู่ 2 ตำบลหนองหญ้า อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงพลังงานได้ให้การสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กให้เป็นโรงไฟฟ้าชุมชนที่เน้นเศรษฐกิจฐานราก ส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนโดยใช้ชีวมวลหรือวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร รวมถึงสร้างความมั่นคงทางพลังงานที่เป็นไฟฟ้าสำรองของประเทศ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวอยู่ระหว่างกว้านซื้อที่ดินข้าพเจ้าในนามของกลุ่ม เห็นว่าโรงไฟฟ้าชีวมวล มีหลักการที่ดี แต่ก่อให้เกิดความวิตกกังวลในผลดี ผลเสีย อีกทั้งได้ศึกษาเรียนรู้จากประสบการณ์ของโรงไฟฟ้าชีวมวล จากแหล่งอื่นเกี่ยวกับผลกระทบที่เป็นอันตรายร้ายแรงต่อวิถีชีวิตชุมชน สิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย และด้วยเหตุผลสำคัญที่สุดคือ ที่ตั้งของโรงไฟฟ้าชีวมวล ตั้งอยู่ใกล้ชุมชน ประมาณ 2-5 กิโลเมตร โดยรอบ ประกอบด้วยตำบลหนองหญ้า ตำบลวังเย็น และตำบลท่ามะขามเป็นที่ราบสูงตันน้ำป่า ซึ่งจะไหลลงสู่ชุมชนทุกปีในฤดูฝน รวมถึงวัด โรงเรียน ดังนั้นหากโรงไฟฟ้าเกิดขึ้นจะต้องมีการดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจังกว่านี้

สำหรับ นายสุขุม มีพันธ์แสง กล่าวว่า จากการประชุมกลุ่มได้ข้อสรุปเป็นเหตุผลสำคัญในการคัดค้าน ดังนี้ 1. ผลกระทบจากมลพิษทางน้ำจากกากของเสีย ทั้งน้ำบนดินและน้ำซึมลงดินซึ่งจะไหลเข้าชุมชน เกิดผลกระทบทางสุขภาพอนามัย โรคภัยไข้เจ็บ ซึ่งควบคุมไม่ได้ 2. ผลกระทบจากมลพิษทางอากาศ วัตถุดิบจากชีวมวล จะก่อให้เกิดฝุ่นละอองจากกระบวนการผลิต เกิดปัญหาต่อระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะเด็กและคนชรา รวมถึงกลิ่นที่ลอยมาในอากาศ 3. ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะการตัดต้นไม้ตามหัวไร่ปลายนา เพื่อป้อนเป็นวัตถุดิบ ซึ่งควบคุมได้ยาก ส่งผลโดยตรงต่อภูมิอากาศ คือ ภาวะโลกร้อนอากาศร้อน แห้งแล้ง 4.มลพิษทางเสียง อันเกิดจากกระบวนการผลิต เทคโนโลยีและเครื่องจักรในการผลิตไฟฟ้าตลอด 24 ชั่วโมง รามถึงผลจากเสียงของรถบรรทุกวัตถุดิบซึ่งต้องวิ่งผ่านชุมชน 5.ผลกระทบต่อวิถีชีวิต สังคม วัฒนธรรม เกิดความแตกแยกในหมู่ชาวบ้านความขัดแย้งในผลประโยชน์ การซื้อขายที่ดินและการเปลี่ยนมือการเป็นเจ้าของที่ดินจากชาวบ้านไปเป็นของนายทุน จากเหตุผลดังกล่าว ในฐานะลูกหลานของชาวตำบลหนองหญ้า เห็นว่า เพื่อประโยชน์สุขของชาวบ้านโดยรวมทั้งระยะสั้นและระยะยาว เห็นควรจะระงับยับยั้งโรงไฟฟ้าชีวมวล ไม่ให้เกิดขึ้นในพื้นที่ดังกล่าว

นายนพพร ทรัพย์เห็นสว่าง ผอ.กกพ.เขต 9 กล่าวว่า ขณะนี้ทาง ครม.ยังไม่ได้มีมติเกี่ยวกับโรงงานไฟฟ้าชีวมวล แต่อย่างใด จึงไม่มีการดำเนินการใดทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการประชาพิจารณ์ หรือประชาคมแต่อย่างใด เพราะโรงไฟฟ้าชีวมวล ต้องผ่านความเห็นชอบของประชาชนด้วย ตอนนี้ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย และหากเกิดขึ้นในพื้นที่ใดพื้นที่นั้นๆ จะต้องมีสายกระแสไฟฟ้าแรงสูงพาดผ่านด้วยไม่ใช่ตั้งกันได้ทุกพื้นที่

และปัญหาการคัดค้าน มีชาวบ้านไม่ประสงค์ออกนามที่ไปร่วมจากการคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล ในชุมชนต่างๆ นั้นก่อนหน้านี้ได้มีชาวบ้านในพื้นที่ตำบลทุ่งสมอ ตำบลหนองขาว เขตอำเภอท่าม่วง ก็ได้ใรการคัดค้านไปแล้ว โดยการคัดค้านของชาวบ้านนั้นไม่เอาโรงไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นในชุมชนเขาเลย ปัญหาเช่นนี้เกิดขึ้นมาจากสาเหตุใดชาวบ้านจึงได้ออกไปคัดค้านทั้งๆ ที่ยังไม่ทราบเลยว่าจะมีการสร้างจริงหรือไม่ เป็นเรื่องที่น่าสังเกต หรือว่าโรงไฟฟ้าที่เกิดขึ้นไปแล้ว ก่อนจะมีการสร้างก็ผ่านตามขั้นตอนอย่างถูกต้อง แต่เมื่อผ่านไปแล้วสร้างเสร็จแล้วการดำเนินการไม่ได้เป็นไปตามข้อตกลงที่ทำกันไว้แต่แรกปล่อยให้เกิดกลิ่นเหม็น สร้างมลพิษแก่ชุมชน แล้วคนในชุมชนก็ไปทำอะไรไม่ได้ ดังนั้นคนในชุมชนจึงรู้สึกในสิ่งเหล่านี้ มันก็เป็นไปได้เรื่องนี้คนในชุมชนเขากระซิปบอกมา

ปรีชา ไหลวารินทร์ / กาญจนบุรี

Loading