ส.อบจ.กาญจน์ ตั้งโต๊ะแถลงชี้แจง กรณีคว่ำร่างญัตติรับมอบสิทธิ์ที่ราชพัสดุแปลงโรงงานกระดาษไทยกาญจนบุรี ตามโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ งบฯ 16 ล้านบาท
จากกรณีที่ สภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี (อบจ.กาญจนบุรี) คว่ำร่างข้อบัญญัติเรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณ พ.ศ.2564 ด้วยคะแนนเสียง 18 ต่อ 6 เสียง รวมทั้งระเบียบวาระที่ 6 ญัตติขอความเห็นชอบการได้รับมอบสิทธิ์เกี่ยวกับพัสดุหรือมอบให้เป็นผู้ดูแลพัสดุที่ราชพัสดุแปลงโรงงานกระดาษตามโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์โรงงานกระดาษไทยกาญจนบุรีเพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ ด้วยงบประมาณ 16 ล้านบาท เมื่อวันที่ 20 ส.ค.ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี ตำบลท่ามะขาม อำเภอเมืองกาญจนบุรี ซึ่งมี นายชูศักดิ์ แม้นทิม ประธานสภา อบจ.กาญจนบุรี มี นายรังสรรค์ รัศมีฤกษ์เศรษฐ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี รองนายก อบจ.กาญจนบุรี ที่ปรึกษา เลขานุการ ปลัด อบจ. รองปลัด อบจ.กาญจนบุรี ผู้อำนวยการส่วน และสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี เข้าร่วมประชุมพิจารณา
ซึ่งหลังจากที่ ส.อบจ.มีมติไม่เห็นชอบการได้รับมอบสิทธิ์เกี่ยวกับพัสดุหรือมอบให้เป็นผู้ดูแลพัสดุที่ราชพัสดุแปลงโรงงานกระดาษ ทำให้ภาคเอกชน นักธุรกิจ และชาวกาญจนบุรี ที่ทราบข่าว รู้สึกเสียดาย และผิดหวังพร้อมทั้งวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักกับการทำหน้าที่ของ ส.อบจ.ที่ไม่รับร่างข้อบัญญัติงบประมาณดังกล่าว เพราะเมื่อมีมติ ‘ไม่เห็นชอบ’ ก็ไม่รู้ว่าอนาคตโรงงานกระดาษที่ชาวกาญจนบุรีได้ร่วมกันต่อสู้เพื่อให้กลับคืนมาเป็นสมบัติของชาวกาญจน์จะเป็นอย่างไรต่อไป
ล่าสุดเมื่อเวลา 10.00 น. วันนี้ 25 ส.ค.63 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณหน้าโรงงานกระดาษไทยกาญจนบุรี สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี รวม 20 คน นำโดย นายชูศักดิ์ แม้นทิม ประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี ได้รวมกันแถลงชี้แจงเหตุผลกรณีไม่รับหลักการร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณ พ.ศ.2564 รวมทั้งญัตติขอความเห็นชอบการได้รับมอบสิทธิ์เกี่ยวกับพัสดุหรือมอบให้เป็นผู้ดูแลพัสดุที่ราชพัสดุแปลงโรงงานกระดาษตามโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์โรงงานกระดาษไทยกาญจนบุรีเพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ ด้วยงบประมาณ 16 ล้านบาท
โดยร่วมกันแถลงว่า จากการประชุมสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรีดังกล่าว ที่ประชุมได้พิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบด้วยอาศัยระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว มีมติเสียงส่วนใหญ่ (18 เสียงต่อ 6 เสียง) ไม่รับหลักการร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี โดยมีเหตุผลดังนี้
1.การจัดทำร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 ไม่เป็นไปตามหนังสือกระทรวงมหาดไทย ด่วนที่สุด ที่ มท.0808.2/ว 2842 ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 เรื่อง ซักซ้อมแนวทางการจัดทำงบประมารรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2564 ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยวิธีการงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2541 ข้อ 4 ดังนี้
1.1 การตั้งงบประมาณด้านรายจ่าย ไม่กระทำให้เป็นไปตามระเบียบกฎหมาย หนังสือสั่งการของกระทรวงมหาดไทย และไม่ได้นำแผนพัฒนาท้องถิ่น (พ.ศ.2561-2565) ที่ถูกต้องไปใช้เป็นแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี
1.2 กระทำการไม่สอดคล้องกับแนวนโยบายการแก้ไขปัญหาการทุจริตของรัฐบาลให้บังเกิดผลเป็นรูปธรรม กล่าวคือ การเสนอร่างข้อบัญญัติดังกล่าว ในส่วนของโครงการงานก่อสร้างมิได้มีการจัดทำเอกสารประมารการค่าใช้จ่ายโครงการโดยแสดงราคากลาง ค่าวัสดุ ครุภัณฑ์ ค่าแรงและราคาต่อหน่วย แยกต่างหากจากร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 จัดส่งให้สภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรีเพื่อประกอบการพิจารณาพร้อมกับร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564
2.นำโครงการจำนวน 29 โครงการ ที่ได้มาจากแผนพัฒนาท้องถิ่น (พ.ศ.2561-2565) เพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายมาจัดทำข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 ดังนั้น จึงมีผลทำให้การจัดทำข้อบัญญัติงบประมาณดังกล่าว ไม่ชอบด้วยกฎหมาย กล่าวคือ จากการตรวจสอบพบว่า ขั้นตอนการจัดทำร่างแผนพัฒนาท้องถิ่น (พ.ศ.2561-2565) เพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) ของคณะกรรมการสนับสนุนการจัดทำแผนพัฒนาองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี และขั้นตอนการพิจารณาร่างแผนพัฒนาท้องถิ่นของคณะกรรมการพัฒนาองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี เป็นไปโดยรวบรัดและน่าเชื่อว่าไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางการปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 80 ดังนี้
2.1 การประชุมคณะกรรมการสนับสนุนการจัดทำแผนพัฒนาขององค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 เวลา 09.00 น. ไม่มีการส่งหนังสือเชิญประชุมและเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเพื่อให้คณะกรรมการฯ ได้ศึกษารายละเอียดล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วัน ก่อนที่จะมีการประชุมเพื่อพิจารณาจัดทำร่างแผนพัฒนาท้องถิ่น (พ.ศ.2561-2565) เพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) เสนอให้คณะกรรมการพัฒนาองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี พิจารณาในลำดับถัดไป
2.2 การประชุมคณะกรรมการพัฒนาองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 เวลา 10.30 น. (วันเดียวกับการประชุมคณะกรรมการสนับสนุนการจัดทำแผนพัฒนาฯ) ก็ไม่ได้มีการส่งหนังสือเชิญประชุมพร้อมร่างแผนพัฒนาท้องถิ่น (พ.ศ.2561-2565) เพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) ที่คณะกรรมการสนับสนุนฯ พิจารณาให้ความเห็นชอบตามข้อ 2.1 ล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วัน เพื่อให้คณะกรรมการฯ ได้มีโอกาสได้ศึกษารายละเอียดล่วงหน้าก่อนมีการประชุม เพราะแผนพัฒนาเป็นเรื่องสำคัญและมีรายละเอียดซับซ้อน ซึ่งคณะกรรมการฯ ต้องใช้เวลาในการพิจารณากลั่นกรองเพื่อให้เกิดความถูกต้อง
3.การจัดทำร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี ไม่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์องค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี ที่นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี และคณะได้ให้สัญญากับประชาชนและสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี ว่าภายในระยะเวลาตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2561-2565 จะพัฒนาจังหวัดกาญจนบุรี ให้เป็นไปตามวิสัยทัศน์ ดังนี้
“เมืองการค้าชายแดน ดินแดนแหล่งการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ที่มีเศรษฐกิจยกระดับ คุณภาพชีวิตได้มาตรฐาน การให้บริการครบถ้วน กระบวนการบริหารงานมีธรรมาภิบาล โครงสร้างพื้นฐานครบถ้วนก้าวทัน AEC”
4.การตั้งงบประมาณตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในหมวดของแผนงานอุตสาหกรรมและโยธาสำหรับโครงการก่อสร้างถนน เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในเขตจังหวัดกาญจนบุรี จำนวน 51 โครงการ งบประมาณ 126,035,000 บาท นั้น ไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ในเขตพื้นที่รับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรีทั้ง 13 อำเภอ และไม่สามารถแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนได้อย่างทั่วถึง เช่น อำเภอไทรโยค มีพื้นที่ 1,728.922 ตารางกิโลเมตร และมีประชาชนที่จะต้องได้รับบริหารสาธารณะจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนถึง 62,652 คน แต่กลับไม่มีการตั้งงบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหาในเรื่องการคมนาคมขนส่ง แม้แต่โครงการเดียว ทั้งๆ ที่ตามแผนพัฒนาท้องถิ่น (พ.ศ.2561-2565) ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี หน้าที่ 476 ลำดับที่ 211 ถึงหน้า 484 ลำดับที่ 229 ได้มีการวางแผนเพื่อจัดทำโครงการประเภทถนนในปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ถึง 10 โครงการแต่ไม่มีการนำไปจัดทำเป็นร่างข้อบัญญัติงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564
5.การจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่น (พ.ศ.2561-2565) เพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) และการจัดทำร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 มีการนำโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์โรงงานกระดาษไทยกาญจนบุรี เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยว งบประมาณ 16,000,000 บาท สอดแทรกเข้าไว้ในแผนพัฒนาท้องถิ่นฯ และร่างข้อบัญญัติงบประมาณฯ โดยที่โรงงานกระดาษดังกล่าว สภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี ยังไม่ได้มีมติเป็นชอบรับมอบสิทธิ์เกี่ยวกับพัสดุหรือมอบให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี เป็นผู้ดูแลพัสดุที่ราชพัสดุ แปลงโรงงานกระดาษและส่วนควบต่างๆ ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหาราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2535 แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2553 ข้อ 9 ดังนั้น การที่นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี และผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ไปนำโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์โรงงานกระดาษไทยกาญจนบุรี มาบรรจุไว้ในแผนพัฒนาท้องถิ่น (พ.ศ.2561-2565) เพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) โดยมีจุดประสงค์เพื่อที่จะให้สามารถนำไปจัดทำข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่าย โดยรู้หรือทราบเป็นอย่างดีว่า โรงงานกระดาษฯ ยังมิได้ผ่านการให้ความเห็นชอบจากสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี ให้รับมอบมาอยู่ในการดูแลขององค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี จึงเป็นการจงใจไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามระเบียบกฎหมายของทางราชการ
จากข้อเท็จจริงดังกล่าว น่าเชื่อได้ว่าการกระทำของนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี ที่ได้บริหารงานมาถึง 12 ปี และเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องทั้งหมดได้มีการเสนอข้อบัญญัติอันเป็นเท็จและมีเจตนาจงใจละเลยไม่ปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามาระเบียบกฎหมาย อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่องค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี อย่างร้ายแรงและน่าเชื่อได้ว่าเป็นการปฏิบัติงานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น ข้าพเจ้าสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี จำนวน 20 ท่าน ที่ลงมติไม่รับหลักการและไม่เห็นชอบกับร่างข้อบัญญัติดังกล่าวข้างต้น ได้พิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว โดยมีเหตุผล ดังนี้
1.เพื่อมิให้งบประมาณที่เป็นภาษีของพี่น้องประชาชนเกิดความเสียหาย
2.เพื่อไม่เป็นผู้ร่วมสนับสนุนที่น่าเชื่อได้ว่าการกระทำดังกล่าวข้างต้นมีเจตนาจงใจ ละเลยไม่ปฏิบัติตามระเบียบกฎหมาย ที่เป็นการกระทำผิดอย่างร้ายแรง
อนึ่ง กรณีโรงงานกระดาษที่จะจัดทำเป็นสวนสาธารณะและแหล่งท่องเที่ยวใหม่ของจังหวัดกาญจนบุรี พวกเราในกลุ่มสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด ขอชี้แจงเหตุผลและข้อเท็จจริง ดังนี้
1.ตั้งแต่ต้นปี พ.ศ.2563 ที่ฝ่ายบริหารทราบว่าจะมีการรับมอบที่ดินราชพัสดุดังกล่าวโดยการประสานงานของผู้ว่าราชการจังหวัด แต่ฝ่ายริหารไม่เคยนำเรื่องนี้เข้าประชุมหารือกับสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดแต่อย่างใด ซึ่งต่อมาสมาชิกฯพึ่งได้รับทราบ เมื่อมีการนัดประชุมสภาฯ ในวันที่ 20 สิงหาคม 2563
2.สมาชิกฯ ไม่ทราบถึงรายละเอียดและขอบเขตจำนวนพื้นที่และอาคารรวมทั้งเครื่องจักรที่เมื่อรับรอบแล้วจะต้องเป็นภาระในด้านงบประมาณกับองค์การบริหารส่วนจังหวัด
3.การรับมอบพื้นที่ดังกล่าวจะต้องรับมอบภาระผูกพันที่อยู่ในพื้นที่ด้วย ได้แก่ การบุกรุกของราษฎรซึ่งในร่างบันทึกข้อตกลงขององค์การบริหารส่วนจังหวัดกับกรมธนารักษ์ในข้อ 15 ที่ผลักภาระการขับไล่ผู้บุกรุกให้กับสมาชิกฯ และองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรีเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งจะทำให้สมาชิกฯ อาจเกิดความขัดแย้งกับพี่น้องประชาชนกลุ่มดังกล่าวข้างต้น
4.สมาชิกฯ ขอยืนยันว่าจะดำเนินการให้เป็นไปตามความต้องการของพี่น้องประชาชนอย่างแน่นอน แต่ต้องมีขั้นตอนกระบวนการที่ถูกต้องเป็นไปตามระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยจะดำเนินการให้แล้วเสร็จในปี พ.ศ.2564 พร้อมจัดหางบประมาณเข้าไปดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
ปรีชา ไหลวารินทร์ / กาญจนบุรี