เลขาธิการสมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย (ส.ค.ท.) แถลงการณ์ฉบับที่ ๕/๒๕๖๓ สนับสนุนการเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ ขั้นพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตย
นายวิสัย เขตสกุล เลขาธิการ ส.ค.ท กล่าวว่า วันครูโลก (World Teachers’Day) เกิดขึ้นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๓๗ ในการประชุมสัมมนาทางการศึกษานานาชาติ โดยองค์การยูเนสโก(UNESCO) เพื่อให้ความสำคัญกับผู้ประกอบอาชีพครูอาจารย์ทั่วโลก เนื่องจากเป็นบุคคลสำคัญที่ขับเคลื่อนการศึกษาและผลิตบุคลากรที่ดีและเพื่อให้ครูตระหนักถึงความรับผิดชอบของตนที่มีต่อสังคม ตลอดจน เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกที่ดีในการช่วยเหลือมนุษย์ เนื่องในโอกาสวันสำคัญของครูทั่วโลก สมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย (ส.ค.ท.) จึงขอส่งความปรารถนาดีมายังผู้ร่วมวิชาชีพ ครู ผู้บริหารและบุคลากรทางการศึกษา ทุกท่านให้มีกำลังใจที่เข้มแข็งเพื่อปกป้องผู้เรียนซึ่งเป็นเยาวชนของชาติ ให้ได้รับการพัฒนาไปในทิศทางที่พึงประสงค์ เป็นไปตามอุดมการณ์ของวิชาชีพครูอย่างแท้จริง สืบไป
เลขาธิการ ส.ค.ท กล่าวต่อไปว่า จากการเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพของกลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษา กรรมกร ชาวนาและประชาชน ที่ออกมาเรียกร้องทวงสิทธิ เสรีภาพ ขั้นพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทย จนมาถึงวันสำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาติไทย คือ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ และ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ที่ฝ่ายผู้กุมอำนาจของรัฐไทย ได้ล้อมปราบนักเรียน นิสิตนักศึกษา และประชาชน จนนำมาซึ่งความสูญเสีย บาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก ซึ่งได้สร้าง ริ้วรอยทางประวัติศาสตร์ที่เจ็บปวด ที่มิอาจลืมเลือนได้ บทเรียนที่เจ็บปวดทางจิตใจของคนไทยผ่านมา ก็มิได้ทำให้ผู้ปกครองบ้านเมือง เกิดความสำนึกผิดหรือจดจำแต่อย่างไร แต่กลับได้พยายามข่มขู่คุกคาม และใช้อำนาจรัฐต่อผู้ชุมนุมเรียกร้องโดยสงบมาโดยตลอด และไม่ได้พยายามที่จะแก้ไขปัญหา เหมือนกับนานาประเทศที่เจริญก้าวหน้า ที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะกลับปล่อยปละละเลย ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐทหาร ตำรวจใช้กำลังและ อำนาจข่มขู่คุกคามต่อผู้ที่เรียกร้องประชาธิปไตยอย่างสงบมาโดยตลอด
เลขาธิการ ส.ค.ท กล่าวอีกว่า สมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย (ส.ค.ท.) เป็นองค์กรพัฒนาวิชาชีพครูและสังคม อันประกอบด้วยสหพันธ์ครูภาคเหนือ สมาพันธ์ครูภาคใต้ ชมรมครูภาคกลางและชมรมครูประชาบาลภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และองค์กรเครือข่ายวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษา มีความห่วงใยต่อสถานการณ์ทางการเมือง และการเคลื่อนไหวของนักเรียน นิสิต นักศึกษา กรรมกร ชาวนาและประชาชน จึงได้มีมติร่วมกันโดยขอเรียกร้องต่อทุกฝ่ายให้ยึดแนวทางสันติวิธี เพื่อความสงบสุขของบ้านเมืองร่วมกันดังนี้ การดูแลและปกป้องสิทธิเด็กภายใต้ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิเด็กโดยให้รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลาสิบสองปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย การศึกษาทั้งปวงต้องมุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ เพื่อให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาที่มีความเสมอภาคและคุณภาพแก่คนทุกเพศ ทุกวัย ทุกฐานะและทุกพื้นที่โดยรัฐต้องสร้างหลักประกันในคุณภาพและมาตรฐานวิชาชีพครูให้เป็นวิชาชีพชั้นสูง ครู ผู้บริหาร และบุคลากรทางการศึกษา ต้องมี “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู”ในฐานะวิชาชีพชั้นสูงมีเกียรติ ศักดิ์ศรี และรับผิดชอบต่อผู้เรียนอย่างมืออาชีพ
สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ปกครองและประชาชน สภาวิชาชีพครู “คุรุสภา” ต้องเป็นสภาของผู้ประกอบวิชาชีพ มีอำนาจและหน้าที่ในการออกใบอนุญาต ควบคุมจรรยาบรรณวิชาชีพทางการศึกษาให้กับครู ผู้บริหารและบุคลากรทางการศึกษาให้มีมาตรฐานสูงเทียบเท่าวิชาชีพชั้นสูงเช่นเดียวกับแพทยสภา และต้องบริหารคุรุสภาโดยผู้มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ คณะกรรมการคุรุสภา ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู กรณีมีการละเมิดจรรยาบรรณวิชาชีพของผู้ประกอบวิชาชีพครูในสถานศึกษาทุกระดับทุกประเภท คุรุสภาต้องดำเนินการตามข้อบังคับคุรุสภา ว่าด้วยการพิจารณาการประพฤติผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพ(ฉบับที่ ๓)พ.ศ.๒๕๖๓ ข้อ ๓โดยดำเนินการสอบสวนผู้ถูกกล่าวหาหรือทุกกล่าวโทษทุกกรณีอย่างรวดเร็ว
เพื่อปกป้องความเสียหายต่อผู้เรียนและสร้างความเชื่อมั่นให้กับสังคม ให้เป็นไปตามหลักการของวิชาชีพชั้นสูง คือ วิชาชีพชั้นสูง มาตรฐานสูงและคุณภาพสูง และสมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย(ส.ค.ท.) ขอยืนยันในเจตนารมณ์ที่จะส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนให้มีสิทธิ เสรีภาพในการเรียนรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยสากลโดยเน้นกระบวนการกระจายอำนาจ การมีส่วนร่วมและการตรวจสอบความโปร่งใสภายใต้หลักธรรมาภิบาลสากล และสันติว ด้วยความเชื่อมั่นและศรัทธาสมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย (ส.ค.ท.)
ข่าว/ภาพ บุรทัศน์ ศรีสะเกษ