วันศุกร์, 15 พฤศจิกายน 2567

ที่ปรึกษาหอการค้าประจวบฯหนุนสร้างโครงการสะพานข้ามอ่าวไทย เชื่อมจังหวัดภาคตะวันออก

ที่ปรึกษาหอการค้าประจวบฯหนุนสร้างโครงการสะพานข้ามอ่าวไทยเชื่อมจังหวัดภาคตะวันออก

 

วันที่ 22 ตุลาคม นายนิพนธ์ สุวรรณนาวา ประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ สภาหอการค้าและสภาอุตสาหกรรม จ.ประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า เห็นด้วยและสนับสนุนแนวทางการใช้งบ 9.9 แสนล้านบาท พัฒนาเส้นทางคมนาคมทางบกเส้นใหม่ผ่านอ่าวไทยเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยว ระหว่างภาคใต้กับภาคตะวันออกเชื่อมโยงไปภาคอีสานและประเทศเพื่อนบ้านทั้ง ลาว กัมพูชาและเวียดนาม ซึ่งทราบว่าหลายฝ่ายเคยมีแนวคิดนี้นานกว่า 10 ปีแต่ทราบว่าได้รับการต่อต้านจากผู้ประกอบอาชีพประมงชายฝั่ง และองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งที่ทะเลอ่าวไทยในจุดที่จะมีการก่อสร้างมีระดับน้ำลึกไม่เกิน 30 เมตร สามารถปักเสาเข็มให้เรือลอดผ่านได้ หรือหากกังวลว่าจะมีผลกระทบเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยในปัจจุบันก็สามารถสร้างถนนเป็นอุโมงค์มุดลงทะเลในบางช่วงเหมือนการก่อสร้างในต่างประเทศ

“ สำหรับการเชื่อมเส้นทางควรพิจารณาเชื่อมจังหวัดภาคตะวันออกกับ จ.ประจวบคีรีขันธ์ในอำเภอโซนเหนือโดยเฉพาะ อ.ปราณบุรีและ อ.สามร้อยยอด เส้นทางไม่ควรก่อสร้างเกิน 110 กิโลเมตร จะเหมาะสมกว่าการเชื่อมกับ จ.เพชรบุรีเนื่องจากอยู่ใกล้กรุงเทพฯ ส่วนการลงทุนคาดว่าจะมีมูลค่าค่อนข้างสูงระยะคืนทุนอาจจะยาวนาน หากมีการลงทุนร่วมกับต่างชาติก็ถือว่าน่าสนใจ เพราะผลประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับเชื่อว่ามีความคุ้มค่าด้านเศรษฐกิจในระยะยาว ส่วนการท่องเที่ยวทั้ง ชะอำ หัวหินและพัทยาจะได้รับอานิสงส์อย่างเต็มที่ ขณะที่หลายประเทศทั่วโลกที่มีลักษณะภูมิประเทศแบบนี้ก็จะใช้เส้นทางลัดแบบนี้แทบทั้งหมด”นายนิพนธ์ กล่าว

นายนิพนธ์ กล่าวว่า ก่อนสร้างรัฐบาลควรทำประชาพิจารณ์รับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย เชื่อว่าหลายภาคส่วนน่าจะเห็นประโยชน์มากกว่ากังวลกับผลกระทบที่มีน้อยมาก ส่วนการจัดสรรงบประมารเพื่อศึกษาโครงการนี้ทั้งระบบ เชื่อว่าจะต้องใช้งบประมาณหลายพันล้านบาท ควรทำด้วยความโปร่งใส มีผลงานเชื่อถือได้ ควรสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มต้น หรือรัฐบาลควรโยนหินถามทางก่อนใช้งบศึกษาเพื่อไม่ให้สูญเสียหากมีการคัดค้าน และหากเทียบกับการก่อสร้างสะพานติณสูลานนท์ที่ จ.สงขลา เริ่มต้นวางแผนสร้างก็เสียงคัดค้านพอสมควร แต่เมื่อสร้างเสร็จนานหลายสิบปีก็พบว่ามีผลกระทบกับระบบนิเวศชายฝั่งน้อยมาก ส่วนอ่าวไทยตัว ก.ด้านในจัดที่จะก่อสร้างเป็นทะเลน้ำตื้น พื้นทะเลเป็นตะกอนทราย โคลนเลน ไม่มีแนวปะการัง” นายนิพนธ์ กล่าว

“ ขณะเดียวกันเครือสหวิริยามีแผนการพัฒนาระบบการขนส่งสินค้าทางน้ำจากท่าเรือบางสะพานไปท่าเรือในภาคตะวันออก ในอนาคตรถบรรทุกเทรเลอร์จากภาคใต้หรือรถบรรทุกในเครือข่ายอุตสาหกรรมเหล็กของเครือสหวิริยาสามารถนำรถลงเรือขนาดใหญ่ที่ซื้อจากจีนบรรทุกไปภาคตะวันออกแทนการยกตู้คอนเทนเนอร์แบบเดิม และการเดินทางไม่ต้องผ่านถนนเพชรเกษม และทราบว่าบริเวณใกล้ท่าเรือน้ำลึกของเครือสหวิริยามีที่ดินของกองทัพเรือ ในอนาคตอาจมีการใช้พื้นที่พัฒนาเป็นฐานทัพเพื่อจอดเรือดำน้ำที่สั่งซื้อจากประเทศจีน”นายนิพนธ์ กล่าว

พิสิษฐ์ รื่นเกษม/ข่าว/จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

Loading