กาญจนบุรี ปธ.กลุ่มอนุรักษ์กาญจน์ เผย ท่อก๊าซระเบิดที่สมุทรปราการ เสียวไส้ถึง จ.กาญจนบุรี แนะเร่งหาวิธีป้องกันทั้งประเทศ ตามสุภาษิตที่ว่า “กันดีกว่าแก้“ ดีกว่า “วัวหายล้อมคอก”
จากกรณีเกิดเหตุท่อส่งก๊าซของบริษัท ปตท.ระเบิดอย่างรุนแรงส่งผลให้ทรัพย์สินและบ้านเรือนประชาชนที่อยู่ตามแนวท่อส่งก๊าซได้รับความเสียหายจากการถูกเพลิงไหม้ และยังมีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว 3 ราย บาดเจ็บอีก จำนวน 52 ราย เหตุเกิดเมื่อวันที่ 22 ต.ค.ที่ผ่านมาที่บริเวณ ต.เปร็ง อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ
ล่าสุดวันนี้ 26 ต.ค.63 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางภินันทน์ โชติรสเศรณี ประธานกลุ่มอนุรักษ์กาญจน์ จ.กาญจนบุรี เปิดเผยว่า หลังเกิดเหตุการณ์ท่อส่งก๊าซ ปตท.รั่วและเกิดระเบิดเปลวไฟได้เผาไหม้อย่างรุนแรง ก่อเกิดความเสียหายทั้งชีวิต ร่างกาย จิตใจผู้คน และทรัพย์สิน ที่ อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ทำให้เราคิดถึงท่อส่งก๊าซ ไทย-พม่า ที่อยู่บริเวณชายแดน บ้านอีต่อง อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี โดยปี พ.ศ.2540 โครงการวางท่อส่งก๊าซ ของ ปตท.บริษัทยักษ์ใหญ่ ของประเทศไทย
ภาคประชาชนได้ต่อสู้กับโครงการวางท่อส่งก๊าซ เนื่องจากการดำเนินการต้องตัดไม้ทำลายป่า ผ่าป่าลุ่มน้ำชั้น 1A ป่าไม้ที่เป็นบ้านของสัตว์ป่านาไชนิดต้องถูกทำลายลง และเรานึกถึงความปลอดภัยของประชาชนเนื่องจากการวางท่อส่งก๊าซ ของ ปตท.ต้องผ่านไร่ นา เทือกเขานาสวน ผ่านหน้าบ้านเรือนในเขตชุมชนด้วย
โดยเวลาผ่านมาถึงปี 2563 คำถามที่เรายังไม่ได้รับคำตอบ คือ ทำไมถึงต้องวางท่อส่งก๊าซ ไทย-พม่า ผ่านจังหวัดกาญจนบุรี ในเมื่อโรงไฟฟ้าตั้งอยู่ที่จังหวัดราชบุรี ที่มีแนวเขตชายแดนติดกับประเทศเมียนมาสามารถวางท่อส่งก๊าซตรงไปได้เลย
แต่กลับดำเนินการวางท่อส่งก๊าซฯอ้อมเข้ามาบริเวณบ้านอีต่อง ตำบลปิล๊อก ตำบลห้วยเขย่ง อ.ทองผาภูมิ ตำบลท่าเสา ตำบลวังกระแจะ ตำบลลุ่มสุ่ม บ้านป่ากิเลน อ.ไทรโยค บ้านลำทราย ตำบลจระเข้เผือก บ้านหนองหัววัว ตำบลหนองไผ่ อำเภอด่านมะขามเตี้ย ไปที่ตำบลแก้มอ้น ตำบลด่านทับตะโก เข้าอำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี ทำให้เพิ่มพื้นที่เสี่ยงภัย อีกทั้งต้องเสียงบประมาณค่าดำเนินการในการวางท่อส่งก๊าซเพิ่มขึ้นเป็นเงินจำนวนมหาศาล
การเกิดเหตุท่อส่งก๊าซ ระเบิดที่ อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ เราต้องหันกลับมาทบทวนอีกครั้งหนึ่งว่าท่อส่งก๊าซในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีตลอดเส้นทางนั้นมีความเสี่ยงภัยมากน้อยเพียงใด
เพราะสิ่งที่ ปตท. ทำ EIA ให้ข้อมูลว่า ท่อส่งก๊าซเป็นเหล็กพิเศษที่มีความหนา แล้วเหตุที่ขึ้นในรั้งนี้ประชาชนชาวจังหวัดสมุทรปราการ ทราบมาก่อนไหมว่า บริษัท ปตท.นั้นใช้ท่อส่งก๊าซขนาดไหน เส้นผ่าศูนย์กลางขนาดเท่าไหร่ และความหนาของท่อส่งก๊าซขนาดเท่าไหร่
แล้วการที่ทาง ปตท.แจ้งว่า ภายในท่อจะมีลูกหมูวิ่งสำหรับตรวจงานโดยอัตโนมัติตลอดเส้นทางของการวางท่อ หากมีอะไรผิดปกติจะส่งสัญญาณ และปิดวาวล์อัตโนมัติทันที โดยจะไม่มีก๊าซออกมานอกท่อและจะไม่สร้างความเสียหาย แต่การที่ท่อส่งก๊าซระเบิดขึ้นในครั้งนี้ เกิดขึ้นได้อย่างไรสาเหตุเป็นเพราะอะไร หรือเครื่องมืออัตโนมัติไม่ทำงาน
นางภินันทน์ โชติรสเศรณี ประธานกลุ่มอนุรักษ์กาญจน์ จ.กาญจนบุรี เปิดเผยว่า ที่จ.กาญจนบุรี ในเอกสารรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม เขียนระบุเอาไว้ว่า ท่อส่งก๊าซ มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 40 นิ้ว ความหนาของท่อ 1 นิ้ว เท่ากับ 25 มิลลิเมตร กลุ่มอนุรักษ์กาญจน์ ได้เข้าพื้นที่เพื่อวัดความหนาของท่อส่งก๊าซฯ ปรากฎว่าความหนาของท่อวัดได้เพียงแค่ 17.2 มิลลิเมตร ความหนาของเหล็กท่อส่งก๊าซหายไปถึง 7.8 มิลลิเมตร
ในขณะนั้นกลุ่มอนุรักษ์กาญจน์ ได้แจ้งให้รัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรี เพื่อให้ส่งคนของท่านเข้าไปตรวจสอบ ซึ่งก็เป็นความจริงตามที่ประชาชนแจ้งให้ทราบ จึงมีคำสั่งให้ ปตท.เปลี่ยนท่อความหนาเป็น 25 มิลลิเมตร แต่ ปตท.กลับอ้างว่าสั่งท่อใหม่ไม่ทันวางท่อให้แล้วเสร็จ หากรับก๊าซตามสัญญาไม่ได้ จะต้องถูกประเทศเมียนมาปรับ ถือว่า ปตท.ยิ่งใหญ่มากทำอะไรก็ไม่ผิด มากไปกว่านั้นคือ การขุดดินเพื่อฝังท่อก๊าซมีความลึกพียงแค่ 3 เมตรเท่านั้น
ซึ่งบริษัท ปตท.ได้ดำเนินการวางท่อส่งก๊าซฯ เหมือนกันหมดทั้งประเทศ ดังนั้นเมื่อท่อส่งก๊าซที่ ต.เปร็ง อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ ระเบิดที่ ท่อส่งก๊าซที่มีอยู่ในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี ก็มีความเสี่ยงเช่นกัน
ปตท.ต้องหาข้อเท็จจริงให้ได้ว่า เหตุท่อส่งก๊าซระเบิดเกิดจากสาเหตุอะไรกันแน่ และต้องหาวิธีป้องกันแนวท่อก๊าซฯ ตลอดเส้นทาง ตามสุภาษิตที่ “กันดีกว่าแก้“ จะดีกว่า “วัวหายแล้วล้อมคอก” เพราะหากมีเหตุเสี่ยงภัยสูงจะย้ายท่อก๊าซฯไปที่อื่นก็ทำไม่ได้ ขอแนะนำว่ามีอยู่ทางเดียวที่จะป้องกันได้คือต้องย้ายชุมชนที่อาศัยอยู่ตามแนวท่อส่งก๊าซออกไปให้ห่างในระยะที่มีความปลอดภัย ซึ่งบริษัท ปตท.จะต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับประชาชนอย่างคุ้มค่าจนเป็นที่พอใจกับทั้งสองฝ่าย
อีกเรื่องหนึ่งที่ต้องกล่าวถึงคือ เมื่อครั้งที่กลุ่มอนุรักษ์กาญจน์ต่อสู้และคัดค้านก่อนมีการขุดเพื่อวางท่อส่งก๊าซ ไทย-พม่า ทาง ปตท.แจ้งว่าจะต้องดูแลชุมชนตลอดเส้นทางที่ท่อผ่าน จะปรับปรุงพัฒนาหน่วยงานของภาครัฐ ที่ให้การสนับสนุนการวางท่อของ ปตท. และที่สำคัญจะจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้กับทุก ๆ อบต.ที่แนวท่อก๊าซ พาดผ่าน เราได้มีโอกาสสอบถาม จนท. อบต.แห่งหนึ่งทราบว่า เวลาผ่านมาแล้วกว่า 20 ปี ยังไม่เคยได้รับภาษี และไม่เคยได้รับความช่วยเหลืออะไร จาก บริษัท ปตท.เลย
ปรีชา ไหลวารินทร์ / กาญจนบุรี