วันศุกร์, 27 ธันวาคม 2567

เกษตรนครพนม”แนะเกษตรกรสวนลิ้นจี่ นพ.1”

เกษตรนครพนม แนะเกษตรกรสวนลิ้นจี่ นพ.1
ดูแลต้นลิ้นจี่ในช่วงออกดอก คาดอากาศเย็นแทงช่อดอกมากขึ้น

 

ลิ้นจี่ เป็นผลไม้ที่มีรสหวานกลมกล่อม มีผู้นิยมบริโภคกันอย่างแพร่หลาย การปลูกลิ้นจี่มีกระจายอยู่ในทั่วทุกภาคของประเทศไทย จังหวัดนครพนมเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการปลูกลิ้นจี่ ซึ่งนิยมปลูก เป็นลิ้นจี่พันธุ์เบา คือ ลิ้นจี่ นพ.1 ซึ่งมีความต้องการอากาศที่หนาวเย็นในการกระตุ้นการออกดอก โดยมีขนาดผลใหญ่ จำนวน 32 – 36 ผล ต่อกิโลกรัม รสชาติหวานอมเปรี้ยว ไม่มีรสฝาด เนื้อหนา 0.98 เซนติเมตร ความหวาน 18 – 20 องศาบริกซ์ และให้ผลผลิต 65 – 180 กิโลกรัม ต่อต้น เมื่ออายุ 8 -10 ปี จากสภาพภูมิอากาศที่เริ่มหนาวเย็นในปีนี้ ส่งผลให้ต้นลิ้นจี่เริ่มแทงช่อดอกเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้ได้ผลผลิตของลิ้นจี่ นพ.1 ที่มีคุณภาพและเป็นที่ต้องการของตลาด เกษตรกรจะต้องดูแลรักษาบำรุงช่อดอกของต้นลิ้นจี่อย่างถูกต้อง เพื่อลดความเสี่ยงด้านผลผลิตที่จะได้รับ

นายวินัย คงยืน หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต รักษาราชการแทนเกษตรจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า สำหรับในช่วงฤดูหนาวในปีนี้นับว่ามาเร็วและต่อเนื่องกัน ส่งผลให้ต้นลิ้นจี่ นพ.1 ในพื้นที่จังหวัดนครพนม เริ่มที่จะแทงช่อดอกออกมารับลมหนาวเพิ่มมากขึ้น ทำให้เกษตรกรชาวสวนลิ้นจี่มีความหวังและคาดว่าในปีนี้เองลิ้นจี่ นพ.1 จะติดดอกและมีผลผลิตที่เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ซึ่งมีพื้นที่ปลูกส่วนใหญ่จะอยู่ที่บ้านขามเฒ่า และบ้านนาโดน ตำบลขามเฒ่า อำเภอเมืองนครพนม ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่หลักในการปลูกลิ้นจี่ พันธุ์ นพ.1 จนได้เป็นสินค้าเกษตร GI ตัวแรกของจังหวัดนครพนม ที่ได้รับเครื่องหมายจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ให้เป็นมาตรฐานสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา ลิ้นจี่ นพ.1 มีลักษณะ และรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ จึงทำให้ผู้บริโภคนิยมสั่งซื้อลิ้นจี่ นพ.1 ไปรับประทาน ซึ่งหากใครที่มาเที่ยวในจังหวัดนครพนมในช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน ไม่ควรพลาดที่จะซื้อและชิมลิ้นจี่ พันธุ์ นพ.1 พืช GI นครพนม “หนึ่งเดียวในโลก”
คำแนะนำและการปฏิบัติดูแลรักษาต้นลิ้นจี่ นพ. ๑ ในช่วงออกดอก เกษตรกรสามารถทำได้ ดังนี้
1. ระยะดอกบาน ในช่วงเดือนธันวาคม – มกราคม เกษตรกรควรให้น้ำต้นลิ้นจี่อย่างสม่ำเสมอ และใช้วัสดุคลุมบริเวณโคนต้น เพื่อช่วยรักษาความชื้นในดิน และควรมีการพ่นปุ๋ยหรือฮอร์โมนทางใบเพื่อช่วยบำรุงช่อดอก และการติดผลที่ดี เช่น ปุ๋ยสูตร ๑๐ – ๔๕ – ๑๐ หรือ ๑๐ – ๕๒ – ๑๗ อัตรา ๒๐ – ๓๐ ซีซี ต่อน้ำ ๒๐ ลิตร ถ้าภายในสวนมีการนำผึ้งมาเลี้ยงในระยะนี้จะช่วยในการผสมเกสรได้ดีขึ้นและงดการพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดโรคแมลงทุกชนิดเพื่อให้แมลงมาช่วยผสมเกสรให้มากที่สุด 2. ระยะติดผลอ่อนขนาดเล็ก ในช่วงเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ เกษตรกรต้องให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ ถ้าต้นลิ้นจี่ขาดน้ำจะทำให้ผลแคระแกรนและร่วงหล่น และในระยะติดผลที่มีขนาด ๕ มิลลิเมตร ควรใส่ปุ๋ยเคมีสูตร ๑๓ -๑๓ – ๒๑ ประมาณ ๑ กิโลกรัมต่อต้น เพื่อบำรุงให้ผลโตสม่ำเสมอ ในระยะผลโตปานกลางใส่ปุ๋ยเคมีสูตร ๑๓-๑๓-๒๑ อัตรา ๑-๓ กิโลกรัมต่อต้น ซึ่งระยะนี้อาจมีการระบาดของหนอนเจาะขั้วผล มวนลำไย ไรกำมะหยี่ ควรฉีดพ่นสารเคมีอย่างต่อเนื่อง เช่น โมโนโครโตฟอส คาร์บาริล ไดโคฟอล

3. ระยะผลกำลังเจริญเติบโต ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม ควรมีการให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ พร้อมให้ปุ๋ยทางใบ เพื่อช่วยให้ผลมีความสมบูรณ์มากขึ้น เช่น ปุ๋ยสูตร ๑๐-๒๐-๓๐ อัตรา ๒๐-๓๐ ซีซีต่อน้ำ ๒๐ ลิตร และก่อนการเก็บเกี่ยวผลผลิต ๓๐ วัน ควรใส่ปุ๋ยเคมีสูตรตัวท้ายสูง เช่น ๑๓-๑๓-๒๑ เพื่อเพื่มคุณภาพของผลให้ดีขึ้น ระยะนี้ผลกำลังเจริญเติบโตขึ้นเรื่อยๆกิ่งจะรับน้ำหนักมากขึ้น ควรทำการค้ำกิ่งด้วยไม้ไผ่ เพื่อช่วยพยุงกิ่งไม่ให้ฉีกหักและเมื่อผลเริ่มเปลี่ยนสี จะพบการเข้าทำลายของผีเสื้อมวนหวาน แมลงวันทอง ควรรีบทำการป้องกันกำจัดโดยใช้กับดักเหยื่อพิษและฉีดสารเคมีป้องกันกำจัดแมลง เช่น คาร์บาริล 4. ระยะเก็บเกี่ยวผลผลิต ในช่วงเดือน เมษายน เกษตรกรควรงดให้น้ำก่อนการเก็บเกี่ยวผลผลิต ๗ – ๑๐ วัน เพื่อให้ผลมีคุณภาพดีและใช้กรรไกรตัดช่อผลให้ลึกเข้าไปในทรงพุ่มประมาณ ๑ ฟุต จากปลายช่อ ไม่ควรใช้มือหักช่อผลโดยตรงเพราะจะทำให้ปลายกิ่งที่เหลืออยู่เป็นแผลช้ำหรือรอยฉีกขาดเข้าไปในกิ่ง ทำให้การแตกยอดอ่อนใหม่รวมทั้งการแทงช่อดอกในปีต่อไปไม่ดีด้วย และควรทยอยเก็บช่อผลที่แก่เต็มที่แล้วประมาณ ๒ – ๓ วันต่อครั้ง จนหมดต้น อย่าให้ผลแก่จัดตกค้างอยู่บนต้นนานเพราะจะทำให้คุณภาพต่ำลง

หากเกษตรกรปฏิบัติตามคำแนะนำแล้ว จะทำให้ต้นลิ้นจี่มีโอกาสในการติดดอกเพิ่มมากยิ่งขึ้น ทำให้เกษตรกรจะได้รับผลผลิตที่คุณภาพและปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ตลาดมีความต้องการ อีกทั้งยังช่วยพัฒนาและยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญของจังหวัดนครพนมให้เป็นที่รู้จักและเพิ่มขีดความสมารถในการแข่งขันกับสินค้าเกษตรในภูมิภาคอาเซียนได้ในอนาคต

ภาพ/ ข่าว : กลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศ
สำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนมเทพพนม รายงาน

Loading