รายงาน
เจาะสนามเลือกตั้งโค้งสุดท้าย เมื่อ “ประจวบโมเดล” โดนคู่แข่งเขย่าแรงสุดในรอบ 20 ปี”
ประมวล พงศ์ถาวราเดช สส. เขต 3 ประจวบคีรีขันธ์ 4 สมัย จากพรรคประชาธิปัตย์( ปชป.) อดีตรองประธานกรรมาธิการการปกครองท้องถิ่น สภาผู้แทนราษฎร อดีตนายก อบจ.ประจวบคีรีขันธ์ 1 สมัยและอดีตสมาชิก อบจ. เขตอำเภอบางสะพาน ในฐานะผู้รวมก่อตั้งทีม “ประจวบโมเดล” ที่ใช้เวลาสั่งสมประสบการณ์ทางการเมืองท้องถิ่นถึงการเมืองระดับชาตินานกว่า 20 ปี เพื่อหลอมรวมการทำงานของนักการเมืองท้องถิ่นและนักการเมืองระดับชาติเป็นเนื้อเดียวกัน เพื่อกำหนดแนวทางในการพัฒนาจังหวัดนานกว่า 20 ปี
ล่าสุด ”ประมวล “ ได้ประเมินและ วิเคราะห์สถานการณ์การเลือกตั้งนายก อบจ.ช่วงการหาเสียงโค้งสุดท้ายก่อนหย่อนบัตรลงคะแนนในวันที่ 20 ธันวาคมนี้ ระหว่างผู้สมัครหมายเลข 1 สราวุธ ลิ้มอรุณรักษ์ จากทีมประจวบโมเดล ต้องการ “สานงานต่อ ก่องานใหม่ “ ผู้สมัครหมายเลข 2 วิชิต ปลั่งศรีสกุล จากพรรคเพื่อไทย ประกาศ”เปลี่ยนประจวบฯให้ดีกว่านี้” ขณะที่ในทางปฏิบัติ กฎหมายการเลือกตั้งท้องถิ่นกำหนดข้อห้ามนักการเมืองระดับชาติ ต้องวางเฉยไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการหาเสียง
ประมวล กล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นอีกครั้งที่ทีมประจวบโมเดล ถูกคู่แข่งในสนามเลือกตั้งท้องถิ่น แสดงศักยภาพสร้างพลัง เขย่าบรรยากาศการเมืองให้ร้อนแรงในรอบ 20 ปี ภายหลังการเลือกตั้งเมื่อปี 2551 ทีมประจวบโมเดลมีคู่แข่งลงสมัครนายก อบจ.เป็นครั้งสุดท้าย แม้โดนเขย่าหนักพอสมควร แต่ผู้สมัครในทีมงานประสบความสำเร็จด้วยดี ส่วนการเลือกตั้งเมื่อปี 2555 ผู้สมัครในทีมไร้คู่แข่ง ทำให้ผู้บริหารชุดเดิมมีโอกาสครองอำนาจอย่างยาวนานถึง 7 ปี
“ปัญหาจากการว่างเว้นการเลือกตั้ง อบจ.นาน 7 ปี เมื่อมีการเลือกตั้ง และมีการแข่งขันอย่างชัดเจน จะทำให้ผู้สมัครนายก อบจ.และสมาชิก อบจ.ทุกเขตของทุกทีม จำเป็นต้องปรับตัวในการหาเสียงโค้งสุดท้ายเพื่อตอบโจทย์บริบททางการเมืองที่ไม่เหมือนเดิมเหมือนการเลือกตั้งเมื่อ 7 ปีก่อน นอกจากนั้นการหาเสียงด้วยการปราศรัย หาเสียงผ่านโซเชียลมีเดีย ทำให้ผู้สมัครต้องมีวิสัยทัศน์และนโยบายแทนวิธีการเดินหาเสียงแบบเก่า เพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึงประชาชนกลุ่มเป้าหมายให้มากยิ่งขึ้น”
“จากการติดตามแนวทางการหาเสียงของผู้สมัครนายก อบจ.บางราย พบว่ามีกลยุทธ์และชั้นเชิงจากประสบการณ์ทางการเมือง ประกาศนโยบายบางเรื่องที่อาจจะไม่เกี่ยวข้องกับภารกิจของนายก อบจ.โดยตรง แต่สามารถใช้วาทกรรมเพื่อสร้างแรงจูงใจได้ดีพอสมควร ขณะที่คู่แข่งในฐานการเมืองเก่ายังวางเฉยไม่ได้แสดงท่าทีตอบโต้ และมุ่งมั่นใช้วิธีการหาเสียงแบบเดิม ซึ่งอาจจะยังเชื่อมั่นว่า คะแนนนิยมยังเป็นที่ยอมรับของประชาชนส่วนใหญ่จากผลงานที่ผ่านมา ”
ประมวล กล่าวทิ้งท้ายว่า หลังปิดหีบลงคะแนนนับบัตรเลือกตั้งในวันที่ 20 ธันวาคมนี้ ไม่ว่าผู้สมัครนายก อบจ.รายใด จะประสบความสำเร็จจากคะแนนเสียงที่ประชาชนให้ไว้วางใจหรือไม่ แต่บทเรียนจากการเลือกตั้งครั้งนี้ จะสั่งสมประสบการณ์และสร้างการเรียนรู้ได้มากขึ้น
ส่วนการทำหน้าที่ของผู้บริหารท้องถิ่นในมิติใหม่ จะต้องปรับการทำงานให้แตกต่างจากเดิม ทั้งการทำงานเพื่อสังคม การทำงานตามนโยบายเพื่อให้ประชาชนเห็นผลงาน และได้รับประโยชน์โดยตรงจากการใช้งบประมาณ เนื่องจากการเมืองยุคใหม่ ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมตรวจสอบการทำงานได้อย่างเต็มที่
พิสิษฐ์ รื่นเกษม/ข่าว/จังหวัดประจวบคีรีขันธ์/รายงานข่าว