วันที่ 15 มกราคม ๒๕๖๔ เวลา 14.30 น. ดร.สุดารัตน์ พงศ์อัมพรไกวัล วัฒนธรรมจังหวัดนครปฐม พร้อมด้วยนางสาวอรพร คัมภีรศาสตร์ ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม และข้าราชการ ในสังกัด ดำเนินการจัดประชุม โดยมีการระดมความรู้ แนวคิด ของปราชญ์ด้านภูมิปัญญาการทอผ้าของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวครั่ง และนักวิชาการเฉพาะด้านภูมิปัญญา ประเพณีวัฒนธรรมไทยพื้นถิ่น นำโดย ดร.อนวัช นกดารา นักวิชาการด้านกลุ่มชาติพันธุ์ ภูมิปัญญาท้องถิ่น และนายกมนพรรธน์ บ่อแก้ว ปราชญ์ด้านการทอผ้าชาติพันธุ์ลาวครั่ง และภูมิปัญญาด้านวัฒนธรรมประเพณีลาวครั่ง
ในการประชุมครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิถีชีวิต อัตลักษณ์ของชุมชน กรณีศึกษากลุ่มชาติพันธุ์ลาวครั่ง เพื่อนำทุนทางวัฒนธรรมของชาติพันธุ์ในจังหวัดนครปฐม นำคุณค่ามาผสมผสานในสินค้า และบริการ ต่าง ๆ ในชุมชน พร้อมกับวิเคราะห์ 4 DNA เพื่อนำอัตลักษณ์ของชุมชนไปออกแบบ และนำไปสร้างสรรค์ชิ้นงานผลิตภัณฑ์และบริการ อย่างร่วมสมัยต่อไป อันเป็นการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดยการนำคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมมาสร้างสินค้าและบริการ นำไปสู่การท่องเที่ยวชุมชน เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ภายใต้ project – based Coaching ของสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม และพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (CPOT) ประจำปี 2564 ของสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ณ ห้องประชุมสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครปฐม
สืบเนื่องจากรัฐบาลได้กำหนดยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ภายใต้วิสัยทัศน์ “ประเทศไทยมีความ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” โดยขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ส่งเสริมธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม ผ่านการสร้างและพัฒนาสินค้าและบริการด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น ความคิดสร้างสรรค์ และทุนทางวัฒนธรรม ผนึกกำลังในทุกภาคส่วนด้วยการทำงาน 3 ประสาน ระหว่าง ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อพัฒนาประเทศให้มั่นคง ประชาชน มั่งคั่งอย่างยั่งยืน
กระทรวงวัฒนธรรมได้ริเริ่ม โครงการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (Cultural Product of Thailand) โดยนำทุนทางวัฒนธรรมซึ่งเป็นต้นน้ำของห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ อาทิ เรื่องราว (Story) และเนื้อหา (Content) มาสร้างเป็นอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรมรูปแบบใหม่ ดำเนินการบนพื้นฐาน แนวคิด 3 ประการ ได้แก่ ต่อยอดอดีต นำทุนทางวัฒนธรรม จุดเด่นทางทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลายของชาติ นำมาประยุกต์ผสมผสานกับเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อให้สอดรับกับบริบทของเศรษฐกิจและสังคมโลกสมัยใหม่ “เป็นการปรับปัจจุบัน เพื่อปูทางสู่อนาคต” พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในมิติต่าง ๆ และปรับสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการอนาคต สร้างคุณค่าใหม่ในอนาคต เพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการ พัฒนาคนรุ่นใหม่ รวมถึงปรับรูปแบบธุรกิจ ให้ตรงกับความต้องการของตลาด โดยมุ่งไปสู่เป้าหมายคือความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนอย่างยั่งยืนต่อไป
นางสาวชนิดา พรหมผลิน
ผู้สื่อข่าวนิวส์รีพอร์ต รายงาน