วันจันทร์, 25 พฤศจิกายน 2567

ชลบุรี”ชาวบ้านกว่า 300 คนค้านการก่อสร้างโรงงานรีไซเิลพลาสติก”

ชลบุรี ชาวบ้านกว่า 300 คน ค้านการก่อสร้างโรงงานรีไซเคิลพลาสติก
ชาวบ้านคัดค้านประชาคมไม่โปร่งใสสร้างเขตประกอบการอุตสาหกรรมบนพื้นที่สีเขียวหวั่นก่อมลพิษชุมชนในอนาคต

ผู้แทนราษฎร พร้อมหัวหน้าส่วนราชการและชาวบ้านอำเภอบ่อทอง จังหวัดชลบุรี คัดค้านการอนุญาตเขตประกอบการอุตสาหกรรมในพื้นที่เกษตรกรรม จัดทำทำประชาคมไม่โปร่งใส หวั่นผลกระทบมลพิษชุมชนในอนาคต
นายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และ ส.ส.จังหวัดชลบุรี นายกิตติพงษ์ กิติคุณ นายอำเภอบ่อทอง พันตำรวจเอกกุลชาติ กุลชัย ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรบ่อทอง และนายชัชพล อินทโฉม อุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี เป็นคนกลางในการร่วมเจรจาระหว่างชาวบ้านหมู่ที่ 5 ตำบลธาตุทอง ซึ่งรวมตัวกันมาประมาณ 300 คน กับคณะผู้บริหารของบริษัท เคน ยูไนเต็ด ประเทศไทย จำกัด กรณีการก่อสร้างโรงงานรีไซเคิลพลาสติก บนที่ดิน 142 ไร่ อำเภอบ่อทอง จังหวัดชลบุรี ซึ่งได้ยื่นขออนุญาตเป็นเขตประกอบการและยังอยู่ระหว่างรออนุมัติใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) ในประเด็นของชาวบ้านที่คัดค้านร้องเรียนเริ่มแรกมาแล้ว 14 ครั้ง ไม่ต้องการโรงงานอุตสาหกรรมในชุมชน เพราะเป็นพื้นที่สีเขียว ซึ่งทำไร่ปลูกพืชเกษตรกรรมมาช้านาน และการทำประชาคมเพื่อนำเสนอขอความเห็นชอบชุมชนไม่โปร่งใส เพราะมีการนำชาวบ้านจากหมู่อื่นมาแสดงตนร่วมรับฟัง ขณะที่ชาวบ้านหมู่ 5 พื้นที่ขออนุญาตก่อสร้างไม่ทราบเรื่องถึง 2 ครั้ง โดยล่าสุดตัวแทนชาวบ้านหมู่ 5 ได้ติดตามทราบว่าเรื่องขออนุญาตทั้งหมด ส่งไปตามขั้นตอนถึงอธิบดีกรมโรงงานแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการอนุมัติ

ด้านผู้บริหารบริษัทฯ ได้ชี้แจงกระบวนการรีไซเคิลว่า เป็นการนำเข้าเศษพลาสติกที่เกิดจากกระบวนการผลิตสินค้าต่างๆ ในภาคอุตสาหกรรม ไม่ใช่ขยะพลาสติก มีวิธีจัดการตามมาตรฐานประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีชื่อเสียงและยอมรับ เป็นการแปรรูปด้วยความร้อนหลอมละลายให้เป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิลชนิดต่างๆ ที่มีคุณภาพสะอาดไม่มีสารพิษ ควบคุมด้วยเครื่องบำบัดกลิ่นและดูดซับเสียง ระบบบำบัดน้ำในกระบวนการผลิตจะคัดแยกกากตะกอน แล้วเติมอากาศกระทั่งตกตะกอนซึ่งน้อยมาก หมุนเวียนน้ำระบบปิดกลับมาใช้ซ้ำไม่ปล่อยลงสู่ชุมชน เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดี
แต่ด้วยข้อถกเถียงของพื้นที่ขออนุญาตเขตประกอบการ ซึ่งประกอบกิจการได้ทั้งพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม สามารถที่จะให้มีโรงงานใหม่เกิดขึ้นในเนื้อที่ซึ่งจัดสรรไว้ประมาณ 90 ไร่ ทำให้ชาวบ้านต้องการทราบรายละเอียด เพราะหวั่นเกิดผลกระทบมลพิษแก่ชุมชนในอนาคต แต่ก็ยังไม่ได้รับคำตอบ โดยฝ่ายบริหารบริษัทฯ ได้หาทางออกที่จะขอความเห็นชอบชาวบ้านในพื้นที่ประมาณ 40 ไร่ ซึ่งเป็นโรงงานรีไซเคิลพลาสติกใกล้แล้วเสร็จ พร้อมยืนยันจะปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ส่วนเนื้อที่จัดสรรที่เหลือในเขตประกอบการ หากจะเกิดโรงงานขึ้นใหม่ก็ให้ทำประชาคมชุมชน เป็นรายกรณีของผู้ประกอบการ

 

ภาพ/ข่าว นิราช/นันฐพล/พิชญ์ฐญา ทิพย์ศรี ผู้สื่อข่าว จ.ชลบุรี
นายพรเทพ เขม้นเขตวิทย์ รายงานจากศูนย์ข่าวภาคตะวันออก

Loading