นครพนม
วัดพระธาตุพนมฯสืบสานประเพณีโบราณช่วงโควิด จัดเวียนเทียนบูชาอุรังคธาตุแบบ New Normal ถวายเป็นพุทธบูชา จุดเทียนส่องธรรมทั่วลานพระธาตุ นำสู่ความเป็นสิริมงคล
เมื่อเวลา 19.30 น. ของคืนวันที่ 25 มกราคม 2564 ณ วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อ.ธาตุพนม จ.นครพนม พระเทพวรมุนี เจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร/เจ้าคณะจังหวัดนครพนม เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ พร้อม ด้วย นายสามารถ สุวรรณมณี นายอำเภอธาตุพนม นายพินิจ ประเคนคะชา รองนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลธาตุพนม นำพุทธศาสนิกชนในพื้นที่ ข้าโอกาสพระธาตุพนม ร่วมประกอบพิธีสวดมนต์ เจริญภาวนา แสดงธรรมเทศนา ในวันขึ้น 12 ค่ำ เดือน 3 โดยปกติระหว่างวันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 3-แรม 1 ค่ำ เดือน 3 จะเป็นงานนมัสการองค์พระธาตุพนม ประจำปี 2564 รวม 9 วัน 9 คืน ในปีนี้ติดสถานการณ์แพร่ระบาดโรคโควิด จึงมีการเลื่อนการจัดงานประเพณีมนัสการพระธาตุพนมออกไป เดิมกำหนดวันที่ 21-29 มกราคม 2564 แต่เพื่อลดความเสี่ยงจึงเลื่อนจัดงานออกไปในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์
ทั้งนี้ทางวัดพระธาตุพนมฯ ยังคงสืบสานประเพณีโบราณ ให้คงไว้ซึ่งขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามที่สืบทอดกันมานานกว่า 40 ปี (หลังที่มีการบูรณะองค์พระธาตุพนมล้ม เมื่อปี พ.ศ.2518) ถือเป็นงานบุญประเพณียิ่งใหญ่ที่สุดของภาคอีสาน โดยจะมีประชาชน นักท่องเที่ยว เดินทางมากราบนมัสการอย่างล้นหลาม ทั้งชาวไทยและชาวลาว สร้างเศรษฐกิจท่องเที่ยวปีละกว่า 100 ล้านบาท ปีนี้จึงถือเป็นปีแรกที่มีการเลื่อนงานนมัสการออกไป แต่ทางวัดยังคงประเพณีไว้แบบเรียบง่าย โดยทุกวันระหว่างวันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 3(21 มกราคม 2564) จะมีการประกอบพิธีสวดมนต์เวียนเทียน จุดเทียนส่องธรรมทั้งลานวัด เป็นการสืบสานประเพณี จนถึงวันสุดท้ายคือวันแรม 1 ค่ำ เดือน 3(29 มกราคม 2564) รวม 9 วัน 9 คืน
นายพินิจ ประเคนคะชา รองนายกเทศมนตรี เทศบาลตำบลธาตุพนม ตัวแทนข้าโอกาสพระธาตุพนม เปิดเผยว่าทุกปีในช่วงงานนมัสการพระธาตุพนม ถือว่าเป็นงานบุญยิ่งใหญ่ของชาวอีสาน ทั้งชาวไทย ชาวลาว ข้าโอกาสพระธาตุพนม ลูกพระธาตุพนม จะต้องมาร่วมทำบุญ หรือที่เรียกกันว่า เสียค่าหัว คือการทำบุญถวายเป็นพุทธบูชาองค์พระธาตุพนม สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง ซึ่งภายในบรรจุพระอุรังคธาตุ หรือกระดูกส่วนหัวอกพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อายุเก่าแก่กว่า 2,500 ปี ถือเป็นประเพณีสืบทอดกันมาแต่โบราณกว่า 40 ปี แต่ปีนี้ทางวัดและชุมชน ได้เห็นความสำคัญของมาตรการคุมเข้มโควิด จึงต้องเลื่อนการจัดงานออกไป แต่คงไว้ซึ่งขนบธรรมเนียมประเพณี
โดยทุกวันจะมีการจัดเวียนเทียน จุดเทียนส่องธรรมถวายเป็นพุทธบูชาองค์พระธาตุพนม สวดมนต์เจริญภาวนา ฟังธรรมเทศนาตามประเพณี เน้นความเรียบง่าย และส่วนใหญ่จะเป็นคนในพื้นที่ งดกิจกรรมการท่องเที่ยว ที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาด จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น แต่ในส่วนของประชาชน นักท่องเที่ยว ที่ต้องการมาทำบุญมากราบไหว้ ยังสามารถมาทำบุญได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้มาตรการ ทั้งการคัดกรองบุคคลมาจากพื้นที่เสี่ยง รวมถึงคัดกรองก่อนเข้าพื้นที่วัด กำชับให้สวมหน้ากากอนามัยทุกราย ส่วนการสืบสานประเพณีจะมีการจัดทุกคืน จนกว่าจะถึงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 3 ซึ่งตรงกับวันที่ 29 มกราคม นี้
เทพพนม รายงาน