ดร.สุดารัตน์ พงศ์อัมพรไกวัล วัฒนธรรมจังหวัดนครปฐม พร้อมคณะ เข้าร่วมกิจกรรมในโครงการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ผ้าไหมตรานกยูงพระราชทาน เป็นกิจกรรมการฝึกอบรมถ่ายทอดความรู้ให้แก่ชุมชนในโครงการ หลักสูตรการผลิตผ้าไหม ตรานกยูงพระราชทานและการฟอกย้อมสีเคมีที่ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม สีธรรมชาติ ประจำปีงบประมาณ 2564 ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 ณ ศูนย์เพื่อการเรียนรู้วัฒนธรรม อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและพัฒนากลุ่มผู้ผลิตผ้าไหมตรานกยูงพระราชทาน ตามข้อบังคับกรมหม่อนไหม ฯ ซึ่งชุมชนตำบลโพรงมะเดื่อโดยกลุ่มทอผ้าศรีอุทุมพรได้มีการย้อมไหมสีธรรมชาติ โดยการใช้ดอกบัวสีต่าง ๆ ต้นสาละ และมูลวัว
สืบเนื่องจาก สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงห่วงใยและตระหนักถึงปัญหาการผลิตผ้าไหมที่ได้คุณภาพของเกษตรกร จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญลักษณ์นกยูงไทยให้เป็นเครื่องหมายรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทย จำนวน 4 ชนิด ได้แก่ นกยูงสีทอง นกยูงสีเงิน นกยูงสีน้ำเงิน และนกยูงสีเขียว โดยสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้ยื่นจดทะเบียนเครื่องหมายรับรองผลิตภัณฑ์ ผ้าไหมไทย ตามบทบัญญัติมาตรา 82 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2547 ต่อมาเมื่อมีการจัดตั้งสถาบันหม่อนไหมแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จึงได้รับการโอนสิทธิหรือรับมรดกสิทธิเครื่องหมายรับรองตรานกยูงพระราชทานจากสำนักงานปลัด สำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2548 และเมื่อมีพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2552 ได้ยกฐานะจากสถาบันหม่อนไหมแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ขึ้นเป็นกรมหม่อนไหม จึงได้มีการโอนขอสิทธิหรือรับมรดกสิทธิเครื่องหมายรับรองตรานกยูงพระราชทานอีกครั้ง เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2553 จากสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มาดำเนินการต่อ โดยกรมหม่อนไหมยังคงรักษาไว้ซึ่งคุณภาพและมาตรฐานการรับรองผ้าไหมไทยตรานกยูงพระราชทาน และเพื่อเป็นการส่งเสริมการใช้เครื่องหมายรับรองผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทยตรานกยูงพระราชทานให้แพร่หลายทั่วโลกจึงได้มีการจดทะเบียนเครื่องหมายรับรองตรานกยูงพระราชทานในต่างประเทศอีก 35 ประเทศ ซึ่งกลุ่มทอผ้าศรีอุทุมพรได้รับการรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทย ได้แก่นกยูงน้ำเงิน และนกยูงสีเขียว
ทั้งนี้เพื่อเป็นการพัฒนาการทอผ้า และการฟอกย้อมสีเคมีที่ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม สีธรรมชาติ ให้กับชุมชนประจำปีงบประมาณ 2564 เพื่อเพิ่มศักยภาพโดยใช้ทุนทางวัฒนธรรมที่มีอยู่เดิมนำมาเพิ่มเติมต่อยอดให้เกิดการพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น มีรูปแบบผลิตภัณฑ์ที่ร่วมสมัยและเป็นที่ต้องการของตลาด อีกทั้งทำให้เกิดความรักความสามัคคีในการรวมกลุ่มกันประกอบอาชีพซึ่งเป็นรากฐานของภูมิปัญญาโดยอนุรักษ์วัฒนธรรมที่มีอยู่เดิม ให้คงอยู่อย่างยั่งยืนตลอดไป
นางสาวชนิดา พรหมผลิน
ผู้สื่อข่าวนิวส์รีพอร์ต รายงาน