มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ จังหวัดนครปฐม เปิดตัวโครงการพัฒนา
“จังหวัดนครปฐมเมืองสร้างสรรค์ สาขาดนตรี” เป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของ UNESCO หวังต่อยอดทางวัฒนธรรม ศิลปะ และดนตรี สู่การพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวสร้างสรรค์ ด้านดนตรีอย่างยั่งยืน
วันที่ 25 มีนาคม 2564 มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ จังหวัดนครปฐม แถลงข่าวเปิดตัวโครงการพัฒนา “จังหวัดนครปฐมเมืองสร้างสรรค์สาขาดนตรี” (Creative City of Music) โดยมี นายสุรศักดิ์ เจริญศิริโชติ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล นายจิรวัฒน์ สะสมทรัพย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครปฐม อาจารย์ ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล นายพิชิต วีรังคบุตร ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) จากนั้น มีพิธีลงนามความร่วมมือในการขับเคลื่อนเมืองนครปฐมเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ สาขาดนตรี ของ UNESCO โดย ผู้แทนจากหน่วยงานพันธมิตรภาครัฐและเอกชน จังหวัดนครปฐม จำนวน 14 หน่วยงาน ร่วมลงนาม ณ หอประชุมมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
นายสุรศักดิ์ เจริญศิริโชติ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม กล่าวว่า จังหวัดนครปฐมได้มีการศึกษาเกณฑ์การเข้าร่วมเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก โดยได้รับความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา ผ่านนโยบายของจังหวัดที่เชื่อมโยงกับภาคส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่ให้การสนับสนุนข้อมูลการถอดบทเรียนการเสนอกรุงเทพมหานครเข้าร่วมเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ ในปี 2562 จึงเริ่มดำเนินโครงการพัฒนา “จังหวัดนครปฐมเมืองสร้างสรรค์ สาขาดนตรีขององค์การยูเนสโก” ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา โดยมีการประเมินศักยภาพความพร้อมของจังหวัดนครปฐม ที่มีทรัพยากรพื้นฐานด้านการท่องเที่ยวหลากหลายทั้งเชิงประวัติศาสตร์ ขนบธรรมเนียม ประเพณีวัฒนธรรม และการละเล่นพื้นเมืองสําคัญสืบทอดมาแต่โบราณ ทั้งศิลปินเพลงพื้นบ้าน – ลำตัด ตระกูลนักดนตรีตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 สถาบันการศึกษาที่จัดการเรียนการสอนในสาขาดนตรี 3 แห่ง ที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในระดับสากล มีมาตรฐานระดับนานาชาติ มีหอประชุม “มหิดลสิทธาคาร”ของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่มีความเป็นเลิศด้านคุณภาพการสะท้อนเสียง (Acoustic) ที่ดีเยี่ยม มีการจัดกิจกรรมดนตรี ระดับชาติและนานาชาติตลอดทั้งปี อีกทั้ง มีการจัดตั้งแหล่งเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรม การจัดกิจกรรมดนตรีแบบนอกห้องเรียน กิจกรรมดนตรีเพื่อส่งเสริมสุขภาวะผู้สูงวัย กิจกรรมดนตรีบำบัดเพื่อการพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นสิ่งที่แสดงถึงศักยภาพความพร้อมของจังหวัดนครปฐมที่จะร่วมกันขับเคลื่อนจังหวัดนครปฐมสู่เป้าหมาย และจะเป็นส่วนสำคัญที่จะนำอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สาขาดนตรีของไทยให้แข่งขันได้ในระดับสากลต่อไป
ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างความร่วมมือกับองค์กร หรือ สถาบันต่างๆ ทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศ สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และประสบการณ์การทำงานซึ่งกันและกันในหลากหลายสาขาวิชาการ นำมาซึ่งความรู้ใหม่ๆ รวมทั้ง มีนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์จำนวนมากที่จะมาช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษย์ การสร้างความร่วมมืออยู่ในแผนยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัย อีกทั้ง ได้กำหนดเป็นนโยบายที่จะสนับสนุนโครงการต่าง ๆ เพื่อการขับเคลื่อนโครงการนั้น ๆ ไปสู่ระดับนานาชาติ ในฐานะที่ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นมหาวิทยาลัย อันดับ 1 ของประเทศไทย และได้รับการจัดอันดับจาก QS World University Rankings by Subject แสดงถึงความเข้มแข็งทางด้านวิชาการไม่เฉพาะแต่ในสาขาวิชา Life Sciences & Medicine เท่านั้น แต่ในปีนี้มีสาขาวิชาที่เข้าสู่อันดับ Top 100 เป็นครั้งแรก คือ Performing Arts โดยอยู่ในช่วงอันดับที่ 51 – 100 ซึ่งคิดคะแนนจากความมีชื่อเสียงด้านดนตรีเป็นที่ยอมรับในระดับสากล สิ่งเหล่านี้ เป็นเครื่องชี้วัดว่า มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก ที่มีความเข้มแข็ง เชี่ยวชาญในศาสตร์แขนงต่าง ๆ การที่ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมกับจังหวัดนครปฐม ในการขับเคลื่อนโครงการนี้นับเป็นการบูรณาการงานร่วมกัน ระหว่างงานวิชาการของมหาวิทยาลัยมหิดล กับ งานวัฒนธรรมของจังหวัดนครปฐม ที่จะมีความร่วมมือช่วยเหลือกันให้มีผลงานสู่ระดับนานาชาติ
นายจิรวัฒน์ สะสมทรัพย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครปฐมกล่าวว่า พื้นที่ในการสร้างสรรค์ดนตรีในจังหวัดนครปฐม นอกจาก หอประชุมมหิดลสิทธาคาร หอแสดงดนตรีที่เป็นความภาคภูมิใจของชาวนครปฐมแล้ว ยังมีพื้นที่ที่รองรับการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ทางด้านดนตรีอย่างหลากหลาย อาทิ งานเต้นสวิงบนถนนรถไฟ Big Bang : Swing Dancing บนถนนรถไฟ หน้าองค์พระปฐมเจดีย์ งานดนตรีไทยอุดมศึกษา ครั้งที่ 44 บริเวณพระราชวังสนามจันทร์กิจกรรมดนตรี ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ของชมรมคนรักสุนทราภรณ์ ชมรมลีลาศ กิจกรรมดนตรีในวัง เนื่องในวาระโอกาสต่าง ๆ ทั้งนี้ ในปีนี้ 2564 จังหวัดนครปฐม องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครปฐม สถาบันการศึกษา และภาคส่วนต่าง ๆ ร่วมกันจัด “กิจกรรมดนตรีในวัง” ขึ้น ตั้งแต่เดือนเมษายน – กันยายน 2564 เพื่อนำสุนทรียะทางด้านดนตรีไปสู่วิถีชีวิตประจำวันของชาวนครปฐม และนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเยี่ยมชมพระราชวังสนามจันทร์ อีกทั้งยังเป็นการเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ให้กับศิลปิน นักดนตรี ผู้มีความรักในเสียงดนตรี ทั้งผู้เล่น และผู้ชม ได้มีพื้นที่แสดงออกอย่างสร้างสรรค์ โดยติดตามรายละเอียดการจัดกิจกรรมได้ที่สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดนครปฐม
อาจารย์ ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ด้วยความพร้อมของจังหวัดนครปฐม ที่มีความเป็นเมืองดนตรี เป็นทุนที่สั่งสมมา มีต้นทุนที่พร้อมอยู่แล้ว ความเป็นเมืองดนตรีกระจายตัวในพื้นที่ต่าง ๆ ของจังหวัดนครปฐม มีกิจกรรมที่จัดขึ้นโดยสถาบันการศึกษา ภาครัฐ ภาคเอกชน เป็นแหล่งผลิตทรัพยากรบุคคลด้านดนตรีที่สำคัญของประเทศไทยที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล จึงเริ่มดำเนินโครงการมา ตั้งแต่ปี 2563 ทำงานร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนเมืองนครปฐมเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของ UNESCO ตลอดปีที่ผ่านมา ซึ่งศักยภาพความพร้อมนี้จะสามารถร่วมสมัครเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์สาขาดนตรีขององค์การยูเนสโก ในปี 2564 นี้ ซึ่งหากจังหวัดได้เข้าร่วมเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ สาขาดนตรี ในปีนี้ จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ โดยมี หอประชุมมหิดลสิทธาคาร เป็นศูนย์กลางกิจกรรมดนตรีของจังหวัดนครปฐมและประเทศไทย จังหวัดนครปฐมจะเป็นแหล่งสร้างสรรค์สินค้าและบริการในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ดนตรี ทำให้ศักยภาพการแข่งขันในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สาขาดนตรีของไทยเติบโตในเวทีโลกได้อย่างเต็มภาคภูมิต่อไป
นายพิชิต วีรังคบุตร ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า โครงการพัฒนา “จังหวัดนครปฐมเมืองสร้างสรรค์สาขาดนตรีขององค์การยูเนสโก” จะเป็นการเชื่อมโยงตามแผนปฏิบัติการในยุทธศาสตร์ของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2563 – 2565) ซึ่งจากศักยภาพของจังหวัดนครปฐม สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ พร้อมที่จะให้การสนับสนุน ซึ่งที่ผ่านมา ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ ได้เข้าไปหารือ นำเสนอผลงาน แผนงานอย่างต่อเนื่อง และนำไปสู่การสมัครเข้าร่วมเครือข่ายย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ประเทศไทย Thailand Creative District Network (TCDN) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสำหรับทุกจังหวัดทั่วประเทศไทยที่มีศักยภาพและมีสินทรัพย์ที่สามารถต่อยอดได้ โดยคนในพื้นที่มีความพร้อม และเชื่อมั่นว่าพื้นที่ ชุมชน | ย่าน | เมือง ของตน สามารถพัฒนาให้กลายเป็นย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวได้ ผ่านการใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อค้นหาจุดเด่น สร้างมูลค่าให้กับสินทรัพย์และวัฒนธรรมท้องถิ่นเดิมที่มีอยู่ไปจนถึงยกระดับคุณภาพชีวิต ภายใต้หัวใจสําคัญของการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ทั้งนี้ จังหวัดนครปฐม ได้สมัครเข้าร่วมเครือข่ายย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ประเทศไทย ในปี 2563 และมีแผนพัฒนาโครงการร่วมกันในช่วงเดือนพฤษภาคม 2564 นี้ ซึ่งการพัฒนาจะไม่จบแค่พื้นที่เล็กๆ แต่จะนําไปสู่การเชื่อมโยงถึงกัน เป็น “เครือข่ายความร่วมมือ” ระหว่างย่านไปจนถึงระหว่างเมือง เพื่อเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์สู่การขับเคลื่อนจังหวัดต่างๆ ให้กลายเป็น “เมืองสร้างสรรค์” ในเวทีโลกต่อไป