ชาวบ้านกว่าร้อยรวมตัวขับไล่เจ้าอาวาส แอบตัดไม้สักอายุ70 ปีขายโรงเลื่อย อ้างหาเงินเข้าวัด
กาญจนบุรี ชาวบ้านกระต่ายเต้นนับร้อยคน รวมตัวขับไล่เจ้าอาวาส หลังแอบตัดไม้สักอายุกว่า70 ปี ที่ปลูกโดยอดีตเจ้าอาวาสและชาวบ้านส่งขายโรงเลื่อย โดยไม่บอกคณะกรรมการวัดและชาวบ้าน ขณะที่ เจ้าอาวาสอ้างวัดไม่มีเงินจากสถานการณ์โควิด จนต้องตัดไม้สักขายหาเงินเข้าวัด
วันนี้ 20 เม.ย. 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายจรัญ ผ่องใส ประธานคณะกรรมการวัดกระต่ายเต้น พร้อมนายมานพ ปิ่นวงษ์งาม ที่ปรึกษาด้านกฏหมายและชาวบ้านกระต่ายเต้น หมู่ 2 ตำบลท่าไม้ อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรีกว่า 100 คน เดินทางมารวมตัวกัน ที่บริเวณวัดกระต่ายเต้น เพื่อพาผู้สื่อข่าวไปดูร่องรอยของต้นสักเก่าแก่อายุกว่า70 ปี ที่ถูกพระครูใบฎีกา สมัย สมจิตโต เจ้าอาวาสวัดกระต่ายเต้นพร้อมพรรคพวก แอบตัดเพื่อส่งขายให้กับโรงเลื่อย โดยที่ไม่ได้ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการวัดและชาวบ้าน รวมจำนวนทั้งสิ้น 24 ต้น
โดยชาวบ้านกระต่ายเต้น กล่าวว่า ต้นสักดังกล่าว เป็นต้นสักที่อดีตเจ้าอาวาสวัดกระต่ายเต้นพร้อมด้วยพระลูกวัดและชาวบ้านในพื้นที่ ร่วมกันปลูกในพื้นที่ของวัดเพื่อเป็นการแสดงอาณาเขตและสร้างความร่มรื่นให้กับวัด โดยเริ่มต้นปลูกกันมาตั้งแต่ปี 2499 ผ่านการดูแลโดยอดีตเจ้าอาวาสมาหลายรูป ก็ไม่เคยมีการคิดที่จะตัดต้นไม้ดังกล่าวมาก่อน มีแต่ช่วยกันดูแลให้แข็งแรงสวยงามเคียงคู่วัดตลอดไป แต่เมื่อพระครูใบฎีกา สมัย สมจิตโต เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน ได้เข้ามาเป็นเจ้าอาวาสเมื่อปี 2546 ก็ได้มีการนำเอาโฉนดที่ดินของวัด เนื้อที่ 74 ไร่ 3 งาน 20 ตารางวา ไปขึ้นทะเบียนเป็นสวนป่าเพื่อการพาณิชย์ ทั้งที่จริงแล้ว ที่ดินทั้งหมดเป็นที่ดินที่มีการสร้างวัด ศาลาการเปรียญ อุโบสถและโรงเรียนของวัดกระต่ายเต้น และมีการปลูกไม้สักจำนวนกว่าสี่ร้อยต้น เพื่อสร้างความร่มรื่นให้กับวัด ไม่ได้เป็นที่ดินสวนป่าเพื่อการพาณิชย์แต่อย่างใด กระทั่ง เมื่อช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ชาวบ้านพบว่า ทางพระครูใบฎีกา สมัย สมจิตโต เจ้าอาวาสวัดกระต่ายเต้นพร้อมพรรคพวก ได้แอบตัดต้นสักขนาดใหญ่อายุกว่า 70 ปี ที่อยู่ในบริเวณวัดเพื่อส่งขายให้กับโรงเลื่อยในพื้นที่จังหวัดนครปฐม
โดยไม่ได้มีการหารือกับคณะกรรมการวัดหรือชาวบ้านแต่อย่างใด เมื่อคณะกรรมการวัดและชาวบ้านเข้าไปสอบถามถึงเรื่องการตัดไม้สักจากเจ้าอาวาส ก็ได้รับคำชี้แจงเพียงว่า ทางเจ้าอาวาสได้ทำเรื่องขออนุญาตตัดไม้จากทางราชการแล้วและได้ทำสัญญาส่งขายให้กับโรงเลื่อยจำนวนทั้งสิ้น 30 ต้น นราคา 300,000 บาท แต่ชาวบ้านมาทราบเรื่อง ในขณะที่มีการตัดไปได้แล้ว 24 ต้น ชาวบ้านจึงเข้าขัดขวางไม่ให้มีการตัดไม้สักในวัดเพิ่ม ก่อนที่จะมีการเข้าไปเจรจากับทางโรงเลื่อยเพื่อขอซื้อไม้สักที่ถูกตัดไปกลับคืนมา ในราคาถึงหกแสนบาท โดยชาวบ้านได้เงินคืนมาจากเจ้าอาวาสจำนวนสามแสนบาทและรวบรวมเงินกันเองอีกสามแสนบาท เพื่อนำไปซื้อไม้สักดังกล่าวกลับมาไว้ที่วัดตามเดิม ชาวบ้านยังได้กล่าวว่า การกระทำของเจ้าอาวาสในครั้งนี้ สร้างความไม่พอใจให้กับชาวบ้านในพื้นที่เป็นอย่างมาก จึงได้มีการรวมตัวกันทำหนังสือร้องเรียนถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมดังกล่าว ไปยังสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดกาญจนบุรีและเจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรี เพื่อขอให้มีการสอบสวนถึงเรื่องที่เกิดขึ้น
นอกจากนี้ ชาวบ้านยังได้ร้องขอให้มีการปลอดพระครูใบฎีกา สมัย สมจิตโต ออกจากการเป็นเจ้าอาวาสวัดกระต่ายเต้น ด้วยเนื่องจากที่ผ่านมา พระครูใบฎีกาสมัย มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมหลายเรื่อง จนไม่เป็นที่ยอมรับของชาวบ้าน กระทั่ง มามีเรื่องของการลอบตัดไม้สักเก่าแก่ภายในวัดเกิดขึ้นอีก
หลังชาวบ้านเดินทางมารวมตัวกันที่บริเวณวัดกระต่ายเต้นแล้ว จึงได้ตกลงใจที่จะรวมตัวกันเข้าไปศาลาด้านหลังวัด ซึ่งเป็นเขตหวงห้าม ที่ทางวัดไม่อนุญาตให้ชาวบ้านเข้ามาได้เพื่อจะไปขับไล่พระครูใบฎีกาสมัยสมจิตโต โดยเมื่อเดินทางไปถึง ชาวบ้านกว่าร้อยคนได้มีปากเสียง โต้เถียงกับทางลูกศิษย์และญาติพี่น้องของเจ้าอาวาส จนเกือบจะมีการวางมวยกัน ก่อนที่เจ้าอาวาสจะยอมลงจากศาลามาพูดคุยกับชาวบ้าน
โดยพระครูใบฎีกา สมัย กล่าวถึงสาเหตุ ที่ต้องตัดไม้สักเก่าแก่อายุกว่า 70 ปี ภายในวัด ไปส่งขายให้กับโรงเลื่อยว่า เป็นเพราะจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19ในตอนนี้ ทำให้ทางวัดแทบจะไม่มีเงินค่าใช้จ่ายในวัด จึงจำเป็นต้องตัดไม้ไปขายเพื่อหาเงินมาเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆและนำไปใช้สร้างกำแพงวัด ส่วนเรื่องที่ไม่ได้แจ้งหรือขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการวัดนั้น ความจริง ทางตนได้มีการแจ้งคณะกรรมการไปบางส่วนแล้ว แต่ไม่ได้แจ้งทั้งหมด ในส่วนที่ชาวบ้านเกิดความไม่พอใจต่อเหตุการณ์ในครั้งนี้นั้น
ทางพระครูใบฎีกาสมัย ยอมรับว่าเป็นความผิดของตนจริงและยินดีที่จะรับผิดชอบ โดยการลดบทบาท ไม่ขอเป็นเจ้าอาวาสวัดกระต่ายเต้นเป็นเวลาสองปี โดยจะให้รักษาการณ์เจ้าอาวาสขึ้นมาทำหน้าที่แทน แต่ชาวบ้านในพื้นที่ยังไม่พอใจและต้องการขับไล่ให้พระครูใบฎีกาสมัยออกจากวัดไป เพื่อให้ชาวบ้านสามารถเข้ามาทำบุญและทำกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาที่วัดได้ตามปกติ เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่ต่างรับไม่ได้กับพฤติกรรมของพระครูใบฎีกาสมัย จึงไม่อยากเข้าวัดมาทำบุญและร่วมกิจกรรมกับทางวัดอีก แต่พระครูใบฎีกาสมัย ยังยืนยันว่า ตนเองไม่ได้ทำผิดถึงขั้นที่จะต้องขาดจากความเป็นพระ จึงไม่สามารถที่จะออกจากวัดไปตามที่ชาวบ้านเรียกร้องได้ ทำให้ชาวบ้านเกิดความไม่พอใจและตะโกนขับไล่พระใบฎีกาสมัยให้อกจากวัดไป ก่อนจะยินยอมสลายตัวไป ซึ่งวันนี้ทางเจ้าคณะตำบลท่าไม้ เจ้าคณะอำเภอท่ามะกา รวมถึงฝ่ายปกครองอำเภอท่ามะกาเข้ามาร่วมเจรจาหาทางออก ร่วมกับชาวบ้านและพระครูใบฎีกาสมัย สมจิตโตด้วย
ปรีชา ไหลวารินทร์ / กาญจนบุรี