โรงพยาบาลค่ายวีรวัฒน์โยธิน อ.เมือง จ.สุรินทร์ เตรียมพร้อมการปฏิบัติงานภายในห้องควบคุมความดันลบ และ โรงพยาบาลสนามกองทัพบก ขณะที่สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 มีผู้ป่วยปกปิดไทม์ไลร์ จนทำให้บุคลากรทางแพทย์โรงพยาบาลสุรินทร์ต้องกักตัวถึง 42 คน
ที่โรงพยาบาลค่ายวีรวัฒน์โยธิน อ.เมือง จ.สุรินทร์ พันเอกสงคราม โชคชัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลค่ายวีรวัฒน์โยธิน เตรียมความพร้อมการปฏิบัติงานภายในห้องควบคุมความดันลบ ซึ่งเป็นห้องที่สามารถคัดแยกผู้ป่วยติดเชื้อโควิด19 โดย มีเตียงรับรองผู้ป่วย จำนวน 12 เตียง ซึ่งแพทย์และพยาบาลของโรงพยาบาล ได้ใช้ ระบบ กล้องวงจรปิดทำให้สามารถติดตามอาการผ่านจอมอนิเตอร์และ Application ผ่านทางมือถือได้ เพื่อเป็นการลดความเสี่ยง ของแพทย์ และพยาบาล ในการปฏิบัติงานและการเฝ้าติดตามอาการผู้ติดเชื้อ ซึ่งห้วงที่ผ่านมาทางโรงพยาบาลค่ายวีรวัฒน์โยธิน ได้มีการทดลองใช้งาน กับผู้ป่วยมาแล้ว 2 ราย ทำให้ แพทย์ และ พยาบาล มีความมั่นใจ และมีความรู้ปลอดภัย ในการดูแลผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น
พันเอกสงคราม โชคชัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลค่ายวีรวัฒน์โยธิน กล่าวว่า ขณะนี้ได้จัดเตรียมโรงพยาบาลสนามกองทัพบก เพื่อดูแลรองรับประชาชน กำลังพลและครอบครัว ที่ติดเชื้อและมีอาการเล็กน้อย หรือไม่มีอาการ รวมทั้งผู้ที่ได้รับการรักษาจากโรงพยาบาลมาและอาการทุเลาลงแล้ว เพื่อเป็นการลดภาระด้านการรักษาพยาบาลให้กับโรงพยาบาลสาธารณสุขในจังหวัดสุรินทร์ได้ โดยจัดตั้งโรงพยาบาลสนามอยู่ 3 จุด คือ จุดที่1.เรือนรับรองค่ายวีรวัฒนโยธิน จำนวน 20 เตียง จุดที่ 2.สโมสรค่ายวีรวัฒน์โยธิน จำนวน 30 เตียง และจุดที่ 3 กองกำลังสุรนารี 30 เตียง รวมเป็น 80 เตียง โดยมีบุคลากรทางการแพทย์ และพยาบาล จะทุ่มเท ปฏิบัติงาน อย่างเต็มที่
และทั้งนี้เนื่องด้วยเหตุการณ์โควิด-19 ที่จังหวัดสุรินทร์ ที่พบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ในหอผู้ป่วยสามัญ ในโรงพยาบาลสุรินทร์ ในวันศุกร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ.2564 และวันอาทิตย์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2564 จนทำให้บุคลากรทางการแพทย์ผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยขณะให้การดูแลรักษา มีความเสี่ยงสูงและปานกลาง จำนวนทั้งสิ้น 42 ราย จึงจำเป็นต้องได้รับการกักตัว 14วันไม่สามารถปฏิบัติงานได้ (เสี่ยงสูง 23 ราย เสี่ยงกลาง 19 ราย) ทำให้อัตรากำลังในการปฏิบัติงานลดลง จึงขอให้ผู้ป่วยที่เข้ารับการตรวจหรือรับการรักษาอย่าปกปิดข้อมูล เพราะจะทำให้กำลังแพทย์ที่ต้องดูแลลดลง
ดังนั้นโรงพยาบาลสุรินทร์ จึงขอความร่วมมือประชาชนแจ้งข้อมูลและความเสี่ยงตามจริงกับเจ้าหน้าที่เสมอ เนื่องจากตรวจพบเร็ว การรักษาได้ผลดี ไม่กระจายวงกว้าง และที่สำคัญเจ้าหน้าที่สามารถเลือกเครื่องมือป้องกันให้เหมาะสม หลีกเลี่ยงเหตุการณ์ดังกล่าวข้างต้นได้