พะเยา – สภาองค์กรผู้บริโภคพะเยา ร่วมคัดค้านการเข้าร่วม “CPTPP” ชี้ ส่งผลกระทบโดยตรงต่องบประมาณสาธารณสุข
วันนี้ ( 21 มิถุนายน 2564 ) ที่ศูนย์ดำรงธรรม จ.พะเยา และสำนักงานพาณิชย์ จ.พะเยา สภาองค์กรผู้บริโภค จ.พะเยา โดยนางสาวศรีวรรณ ปวงงาม กรรมการสภาผู้องค์กรบริโภคจังหวัดพะเยา , นางจิตรทิวา อินอิ่น กรรมการสภาองค์กรผู้บริโภคจังหวัดพะเยา , ว่าที่ ร.ต.อภิสิทธิ์ ชำนาญยา หัวหน้าหน่วยประจำจังหวัด สภาองค์กรผู้บริโภค , นางสาวสนธยา ทะอุด , นางสาววรรณนิสา สนธิคุณ เจ้าหน้าที่หน่วยฯ เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านการเข้าร่วม “ ข้อตกลงความครอบคลุมและความก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนทางการค้าภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก “ หรือ CPTPP ซึ่งจะส่งผลกระทบด้านลบต่องบประมาณหรือค่าใช้จ่ายของประเทศที่เข้าร่วมโครงการ
น.ส.ศรีวรรณ กล่าวว่า จากการที่รัฐบาลไทย มีนโยบายที่พยายามจะนำประเทศไทยเข้าร่วม ‘ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก’ หรือ The Comprehensive and Progressive Agreement for Trans – Pacific Partnership (CPTPP) โดยอ้างว่าจากข้อตกลงดังกล่าว ประเทศไทยจะได้ผลประโยชน์มากกว่าเสียผลประโยชน์นั้น อาจไม่ใช่ปัจจัยหลักที่จะช่วยให้ไทยได้รับเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลกระทบด้านลบต่องบประมาณ หรือ ค่าใช้จ่ายของประเทศนั้น จากข้อเสนอของสภาเภสัชกรรมต่อคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) เมื่อเดือนมีนาคม 2564 ที่ผ่านมา พบว่า จะเกิดผลกระทบไม่น้อยกว่า 420,000 ล้านบาท ในระยะเวลา 30 ปี รวมทั้งมูลค่าของอุตสาหกรรมผลิตยาในประเทศลดลงสูงสุดถึง 1 แสนล้านบาท
น.ส.ศรีวรรณ กล่าวต่อไปว่า ซึ่งค่าใช้จ่ายด้านยาที่เพิ่มขึ้นส่งผลกระทบโดยตรงต่องบประมาณของรัฐในการจัดบริการสาธารณสุข โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายด้านยาในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประกอบกับข้อมูลจากผลการวิจัยของ รุ่งเพ็ชร สกุลบำรุงศิลป์ และคณะ พบว่า อุตสาหกรรมยาขนาดเล็ก ต้องพึ่งพิงการนำเข้าเป็นหลัก ในปี 2562 และมีบริษัทที่มีขนาดตลาดมากกว่า 1,000 ล้านบาทขึ้นไป เพียงร้อยละ 17 จำนวนบริษัท 21 แห่ง จากทั้งหมด 123 แห่ง ทำให้สัดส่วนการผลิตยาในประเทศเมื่อเทียบกับการนำเข้ายา มีแนวโน้มลดลงอย่างเห็นได้ชัด จากร้อยละ 69 ในปี 2530 ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 29 ในปี 2562 และมีแนวโน้มการนำเข้ายาสูงขึ้นทุกปี นอกจากนี้ จากการคาดการณ์ผลกระทบของ CPTPP ในระยะเวลาประมาณ 30 ปี (2562 – 2590) ประเทศไทยจะมีภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่เพิ่มขึ้นมาจากการพึ่งพิงการนำเข้ายาที่สูงมาก ซึ่งส่งผลต่อค่าใช้จ่ายด้านยาที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และจะมีผลกระทบต่อความมั่นคงด้านยาของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยสรุปดังนี้ ค่าใช้จ่ายด้านยาเพิ่มขึ้นสูงสุด เฉลี่ยปีละ 14,000 ล้านบาท , สัดส่วนการพึ่งพิงนำเข้ายาเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันร้อยละ 71 เพิ่มเป็นร้อยละ 89 , มูลค่าตลาดของอุตสาหกรรมผลิตยาในประเทศลดลง คิดเป็นมูลค่าตลาดที่หายไปสูงสุดถึง 1 แสนล้านบาท , เมล็ดพันธุ์ใช้ขยายพันธุ์ต่อไม่ได้ทำให้อาหารแพงขึ้น , เครื่องสำอาง ไม่ต้องขึ้นทะเบียน , สินค้าออนไลน์ไม่ต้องขึ้นทะเบียน , หมูที่มีการใช้สารเร่งเนื้อแดง และGMOS และมีการซื้อเครื่องมือแพทย์มือสองเพื่อมาใช้งาน
จากเหตุผลข้างต้น สภาองค์กรผู้บริโภคขอจังหวัดพะเยา จึงเสนอให้คณะรัฐมนตรี คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ให้ตระหนักในผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนไทยทั้งประเทศ หากมีการเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการเจรจาเข้าร่วมความตกลง CPTPP ผ่านการพิจารณาด้วยความรอบคอบและมองประโยชน์ของประชาชนที่เป็นผู้บริโภคส่วนใหญ่ มากกว่าผลประโยชน์ทางธุรกิจของกลุ่มคนส่วนน้อยของประเทศ ดังนั้นสภาองค์กรของผู้บริโภค ขอให้ชะลอการส่งหนังสือแสดงเจตจำนงค์เข้าร่วม CPTPP ด้วยเหตุผลข้างต้น
(ภาพ/ข่าว สราวุธ ตั้งประเสริฐ พะเยา )