วันจันทร์, 13 มกราคม 2568

นครปฐม จัดกิจกรรมสร้างการรับรู้ภูมิปัญญาผ้าและเครื่องแต่งกายภาคกลาง เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เป็น Premium OTOP

นครปฐม จัดกิจกรรมสร้างการรับรู้ภูมิปัญญาผ้าและเครื่องแต่งกายภาคกลาง เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เป็น Premium OTOP

วันที่ 24 กันยายน 2564 ห้องประชุมปิ่นเกลียว มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม นายสุรศักดิ์ เจริญศิริโชติ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม เป็นประธานกิจกรรมสร้างการรับรู้ภูมิปัญญาผ้าและเครื่องแต่งกายภาคกลาง ตามโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าและเครื่องแต่งกายให้เป็น Premium 0TOP โดยมีผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน นายกเหล่ากาชาดจังหวัดนครปฐม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม หัวหน้าส่วนราชการ พัฒนาการอำเภอ และกลุ่มผู้ผลิตผู้ประกอบการ 7 จังหวัดภาคกลาง ร่วมงานในครั้งนี้

นางทัศนีย์ ชัยคุณแสง พัฒนาการจังหวัดนครปฐม กล่าวว่า การจัดกิจกรรมสร้างการรับรู้ภูมิปัญญาผ้าและเครื่องแต่งกายภาคกลาง สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดนครปฐม ร่วมกับ ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP จาก 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัด นครปฐม ราชบุรี กาญจนบุรี ประจวบคีรีบันธ์ สุพรรณบุรี สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม จำนวน 50 กลุ่ม เพื่อเผยแพร่พระอัจฉริยภาพของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ด้านการออกแบบเครื่องแต่งกาย สิ่งทอ และการอนุรักษ์ผ้าไทย ให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ อีกทั้งพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ผ้าและเครื่องแต่งกายให้เป็นผลิตภัณฑ์พรีเมี่ยม เป็นที่ต้องการของตลาด ตลอดจนประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ภูมิปัญญาและเครื่องแต่งกาย การออกแบบด้วยผ้าไทย ที่นำไปตัดเย็บให้ทันสมัย สามารถสวมใส่ได้ในชีวิตประจำวัน

นายสุรศักดิ์ เจริญศิริโชติ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม กล่าวว่า ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาต้นแบบการทอผ้า และการพัฒนายกระดับผ้าไทยให้เป็นผลิตภัณฑ์พรีเมี่ยม เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 เห็นชอบมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทย โดยการรณรงค์ เชิญชวนคนไทยสวมใส่ผ้าไทยอย่างน้อยสัปดาห์ละสองวัน เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่า จากภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่สะท้อนให้เห็นบริบททางสังคมและวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ จากการถ่ายทอดงานหัตถกรรมผ่านผ้าทอจากบรรพชนสู่คนรุ่นปัจจุบัน ด้วยการส่งเสริมและเผยแพร่ผ้าพื้นถิ่นไทย ให้ดำรงคงอยู่ปรากฏเป็นความภาคภูมิใจของคนไทย และยินดีกับกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย 50 กลุ่มทั้ง 7 จังหวัด ที่ได้รับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ให้มีศักยภาพ มีความพร้อม มีความเป็นไปได้ทางการตลาด สามารถสร้างงานในชุมชนได้ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

Loading