วันอาทิตย์, 24 พฤศจิกายน 2567

นครปฐม การเล่นผีนางกวักในงานประเพณีสงกรานต์

​นครปฐม การเล่นผีนางกวักในงานประเพณีสงกรานต์


เมื่อวันที่ ๑๓ เมษายน ๒๕๖๐ เวลา ๑๙.๐๐ น. นางสาวชนิดา พรมผลิน นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการร่วมกับสภาวัฒนธรรมตำบลลำเหยร่วมจัดงานประเพณีการละเล่นผีนางกวัก โดยมีนายสลั่น กองกันยา ได้อัญเชิญผีนางกวัก ซึ่งสืบทอดมาจากบรรพบุรุษลาวครั่งมานากว่า ๒๐๐ ปี และในขณะนี้มีเพียงคุณสลั่น กองกันยา ผู้เดียวที่สามารถเชิญผีนางกวักให้มาได้ ปัจจุบันได้มีการถ่ายทอดให้ลูกหลานลาวครั่งได้สืบต่อไว้เพื่ออนุรักษ์การละเล่นให้คงอยู่ การละเล่นผีนางกวักจะนิยมเล่นในช่วงสงกรานต์ ใครมีทุกข์ มีสุข ถามเรื่องงาน เรื่องความรัก เรื่องโรคภัย ไข้เจ็บ สามารถถามได้ทุกเรื่องผีนางกวักจะบอกด้วยการเคาะสากตำข้าว และเขียนลงบนทรายที่ได้เตรียมไว้ทำให้ชาวบ้านได้มีขวัญและกำลังใจในการดำเนินชีวิตต่อไปอย่างมีความสุข


​​การเล่นผีนางกวักนิยมเล่นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ของลาวครั่งประมาณเดือนเมษายน ของทุกปี การเล่นผีนางกวักจะเป็นการเชิญผีให้สิงในกวัก (เครื่องมือสำหรับพันด้ายหรือฝ้าย) ในการทอผ้า จากนั้นก็จะมีการถามผีนางกวักให้ทักทายในเรื่องต่าง ๆ มักเล่นในเวลากลางคืน หลักจากเลิกเล่นก็จะเชิญผีออกจากกวัก วันรุ่งขึ้นจึงจะเชิญมาเล่นใหม่ การเล่นนี้จะเล่นจนถึงวันสุดท้ายของสงกรานต์ คือก่อนวันสรงน้ำพระ ๑ วัน เงินที่ได้จากการเล่นก็จะนำไปเข้าพุ่มผ้าป่าถวายวัดในการแห่ธงสงกรานต์

​​เริ่มต้นด้วยการเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อมเมื่อได้เวลาพลบค่ำ ผู้นำการเล่นก็ชักชวนเพื่อนบ้าน นำอุปกรณ์ทั้งหมดไปที่ทางสามแพร่ง ผู้เล่นผู้หญิงสองคนจะทำหน้าที่ถือกวักคนละด้าน ผู้นำจุดธูปเชิญผีให้มาสิง ในกวัก จากนั้นก็จะร้องเพลงเชิญนางกวัก มีการซักถามนางกวักให้ทายทักเรื่องราวต่าง ๆ เช่นการทำมาหากิน เนื้อคู่ หรือบางครั้งก็จะถามเรื่องหวย ใครประสงค์ที่จะถามก็จะต้องนำเงินใส่ลงไปในพานขันธุ์ห้าเป็นค่ากำนัล ตัวอย่างคำถาม “มื้ออื่นข้อยจะได้พบรักบ่ ถ้าพบให้นางกวักเคาะสากเด้อ” “ขอหวยสองโต เขียนลงบนดิน ให้เบิ่ง” เป็นต้น หากนางกวักจะตอบ ก็จะใช้แขนเคาะลงบนสากตำข้าว การเล่นก็จะดำเนินไปเรื่อยๆ บางครั้งก็จะมีการร้องเพลงหรือเป่าแคนให้นางกวัก ได้สนุกสนาน เต้นไปตามจังหวะ จนกว่าจะได้เวลาดึกมากแล้ว จึงเลิกเล่น ก็จะเชิญผีออกจากกวัก ด้วยการใช้นิ้วมือแหย่ลงไปในตาของกวัก ผีก็จะออกไป
​​เรื่องราวต่าง ๆ ทั้งหมดนี้ บรรพบุรุษได้สร้างสรรค์ไว้เพื่อให้เกิดความรักความสามัคคี การร่วมกลุ่มกันของชาวบ้าน ให้ได้มีกิจกรรมร่วมกัน เป็นการสร้างพลัง สร้างขวัญและกำลังใจให้กับชาวบ้าน ในการดำรงชีวิตให้มีความเข้มแข็ง ก่อให้เกิดกำลังใจในการประกอบสัมมาอาชีพ เพื่อเป็นหลักของครอบครัว ชุมชน และสังคม ต่อไป


ปนิทัศน์ มามีสุข ภาพ/ข่าว จ.นครปฐม

Loading