วันอังคาร, 7 มกราคม 2568

ครบรอบ 64 ปีปาฏิหาริย์พญานาค 7 ตน วัดพระธาตุพนมฯ จัดงานวันสัตตนาคารำลึก โอรสธิดาร่วมพิธีแบบ New Normal

นครพนม
ครบรอบ 64 ปีปาฏิหาริย์พญานาค 7 ตน วัดพระธาตุพนมฯ จัดงานวันสัตตนาคารำลึก โอรสธิดาร่วมพิธีแบบ New Normal

วันที่ 10 ตุลาคม 2564 เวลา 18.00 น. บริเวณศาลาเฉลิมเกียรติ วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อ.ธาตุพนม จ.นครพนม ได้จัดเป็นสถานที่งานวันสัตตนาคารำลึก ประจำปี 2564 เป็นการภายใน แบบ New Normal เนื่องจากการแพร่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด-19 จึงปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครพนม มีการคัดกรองและจำกัดผู้เข้าร่วมพิธีไม่ 100 คนอย่างเข้มงวด เพื่อลดการแออัดใกล้ชิดกันเกินไป โดยจัดพิธีเปิดงานฯ ณ บริเวณสถูปพระธาตุพนมองค์เดิม มีนายชาธิป รุจนเสรี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เป็นประธาน พร้อมคณะโอรสธิดา และพุทธศาสนิกชนมาพร้อมเพรียงกัน ซึ่งพระเทพวรมุนี ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 10/เจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมฯ ได้แสดงธรรมเทศนา 1 กัณฑ์ และกล่าวคำถวายผ้าป่าบูชาฯ พร้อมถวายเครื่องบวงสรวงองค์พระธาตุพนมบรมมหาเจดีย์อันศักดิ์สิทธิ์และองค์สัตตนาคา

โดยทางวัดพระธาตุพนมฯมีมาตรการสำหรับผู้ที่จะมาร่วมพิธีคือ สวมใส่หน้ากากอนามัย ตรวจคัดกรองก่อนเข้าบริเวณวัด,ต้องเคยฉีดวัคซีนป้องกันมาอย่างน้อยครบ 2 โดสขึ้นไป,ผู้เข้าร่วมพิธีต้องผ่านการตรวจ swab,ผู้ที่มาจากพื้นที่เสี่ยงก็ต้องฉีดวัคซีนครบ 2 โดสเกิน 2 สัปดาห์ และต้องได้รับการตรวจหาเชื้อซ้ำแล้ว เป็นต้น

ทั้งนี้ เนื่องจากวัดพระธาตุพนมฯตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง จึงปรากฏเรื่องราวเกี่ยวกับพญานาคทั้ง 7 ตนมาให้ความเคารพและดูแลองค์พระธาตุพนม ตามคติความเชื่อที่ฝังรากลึกในท้องถิ่น ก่อให้เกิดประเพณีเกี่ยวกับพญานาค ดังนั้น วันสัตตนาคารำลึก จะเริ่มตั้งแต่วันขึ้น 4 ค่ำ เดือน 11 ปีนี้ตรงกับวันที่ 10 ตุลาคม คือวันทำบุญรำลึกถึงพญานาค 7 ตน ที่ช่วยปกปักรักษาองค์พระธาตุพนม ซึ่งเป็นความเชื่อความศรัทธาตามตำนานของคนท้องถิ่นไทอีสานและลาวมาแต่โบราณ จึงมีการจัดทำพิธีบวงสรวงขึ้นมา ในพิธีได้จัดเป็นงานบุญปฏิบัติธรรม ฟังเทศน์ และร่วมกันทำบุญสืบทอดและทำนุบำรุงวัดสืบต่อไป ดังนั้นวัดพระธาตุพนมฯจึงจัดงานวันรำลึกถึงพญานาคทั้ง 7 ที่ดูแลรักษาองค์พระธาตุพนม เป็นปฏิทินการจัดงานประจำทุกๆปีในวัดพระธาตุพนมฯ
เหตุผลที่กำหนดวันขึ้น 4-5 ค่ำ เดือน 11 เป็นประจำทุกปีนั้น เพราะว่ามีปรากฏการณ์เกิดขึ้นในกลางดึกเวลาประมาณ 02.00 น. ของวันขึ้น 5 ค่ำ เดือน 11 พ.ศ.2500 ขณะฝนตกหนักได้มีนายไก้ฮวด แซ่ตั้ง พร้อมภรรยาเป็นชาวบ้านในเขต อ.ธาตุพนม ออกมารองน้ำฝน และทั้งสองได้มองเห็นแสงประหลาดลำงามมาจากทางด้านทิศเหนือ มีขนาดโตเท่าต้นตาลขนาดใหญ่ และมีสีแตกต่างกันถึง 7 สี พุ่งแหวกสายฝนหายเข้าไปในองค์พระธาตุพนม และเหตุการณ์ดังกล่าวก็ได้แพร่สะพัดออกไปในชุมชนอย่างรวดเร็ว

ต่อมาอีก 2 วัน เจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมในขณะนั้น จึงให้สามเณรทรัพย์นั่งทางในดูว่าเหตุการณ์ครั้งนั้นคืออะไร จึงปรากฏในนิมิตว่าลำแสงที่ชาวบ้านพบเห็นนั้นเป็นพญานาค 7 ตน มีนามตามลำดับเป็นมงคลตามอริยทรัพย์อันประเสริฐ คือ 1. พญาสัทโทนาคราชเจ้า มีพระวรกายสีฟ้าน้ำทะเล ประจำอยู่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มาจากสระอโนดาตกับนาคบริวารอีก 6 ตน คือ 2.พญาศีลวุฒินาโค พระวรกายสีเขียวนิล (เขียวเข้ม) ประจำอยู่ทิศตะวันออกเฉียงใต้ 3.พญาหิริวุฒนาโค พระวรกายสีเขียวไพร (เขียวอ่อน)ประจำอยู่ทิศตะวันออกเฉียงใต้ร่วมกับองค์ศีลวุฒินาโค 4.พญาโอตตัปปะวุฒินาโค พระวรกายสีทองทั้งองค์งดงามมาก ประจำอยู่ทิศตะวันตกเฉียงใต้ 5.พญาพาหุสัจจะวุฒินาโค พระวรกายสีชมพูประกายมุก ประจำอยู่ทิศตะวันตกเฉียงใต้ ร่วมกับองค์โอตตับปะวุฒินาโค 6.พญาจาคะวุฒินาโค พระวรกายสีแสดท้องแย้(ออกประกายทอง) ประจำอยู่ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ และ 7.พญาปัญญาเตชะวุฒินาโค พระวรกายสีขาวฉัพยารังสีเลื่อมประกายเงินยวง ประจำอยู่ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ร่วมกับองค์จาคะวุฒินาโค

โดยพญานาคทั้งเจ็ดมีวิชาความรู้แตกต่างกัน ได้มารักษาพระอุรังคธาตุหรือกระดูกหน้าอกของพระพุทธเจ้า ซึ่งพระมหากัสสปะได้อัญเชิญมาจากประเทศอินเดีย เนื่องจากเทพยดาที่รักษาองค์พระธาตุอยู่ก่อนนั้น นิสัยไม่ดีชอบกินสินบนและเครื่องเซ่นสรวงของชาวบ้านอนาคตอาจจะทำให้เกิดความเสื่อมศรัทธา จึงต้องมาประทับรักษาแทน

หลังจากนั้นเป็นต้นมา เมื่อมีเหตุการณ์หรือเรื่องเดือดร้อนต่างๆ พญานาคก็จะมาประทับร่างทรง เพื่อโปรดชาวบ้านเทศนาสั่งสอน สนทนาทางโลกและทางธรรม และรักษาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ จนชาวบ้านเกิดความเลื่อมใสศรัทธา ยึดถือปฏิบัติทำให้มีการจัดทำพิธีบวงสรวงบูชาพญานาคทั้ง 7 สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน
ต่อมากลายเป็นพิธีสำคัญอย่างหนึ่งของจังหวัดนครพนม ในช่วงก่อนวันออกพรรษาประมาณอาทิตย์กว่า ว่ากันว่าหากใครที่ได้มาร่วมพิธีนี้ถือว่าเป็นบุญกุศลจะทำให้มีความสุข และเจริญรุ่งเรืองตลอดไป ส่วนในเรื่องตำนานพญานาคนั้น แล้วแต่จิตของแต่ละคน หรือบุญวาสนาของใครที่จะได้พบเห็น สำคัญที่สุดงานสัตตนาคารำลึก ถือเป็นงานประเพณีสำคัญที่แสดงออกถึงความเคารพศรัทธาในพระพุทธศาสนา ซึ่งมีองค์พระธาตุพนมเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ และเป็นการสร้างจิตสำนึกให้พุทธศาสนิกชนหันมาร่วมกันทะนุบำรุงพระพุทธศาสนา ทำให้ทุกปีมีประชาชน นักท่องเที่ยว จากหลายจังหวัดทั่วประเทศ รวมถึงชาวลาวมาร่วมพิธีคับคั่ง ถือเป็นพิธีสำคัญที่จัดขึ้นก่อนออกพรรษาทุกปี

โดยกำหนดในวันเวลา 02.00 น. ที่พญานาคทั้ง 7 ตนพุ่งเป็นลำแสงเข้าไปในองค์พระธาตุพนมเมื่อปี พ.ศ. 2500 เป็นปฐมว่าคือเวลาที่สำคัญที่สุดของงานสัตตนาคารำลึก ดังนั้นเมื่อถึงวันเวลาดังกล่าวทางวัดจึงจัดพิธีเจริญชัยมงคลคาถา สดุดีรับองค์สัตตนาคา และพิธีบวชปฏิบัติธรรมอุทิศส่วนกุศลแด่องค์พญานาคทั้ง 7 ตน โดยมีโอรสและธิดาของพญานาคเป็นแม่งานร่วมกับพระสงฆ์ ส่วนวันรุ่งขึ้นจะทำบุญตักบาตร ถวายภัตตาหารเช้าและเพลก็เป็นอันเสร็จพิธี

เทพพนม รายงาน

Loading