กาญจนบุรี – รุ่นต่อรุ่นยังมีให้ชนรุ่นหลังได้สืบทอดประเพณีและวัฒนธรรมของชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง บ้านสะเนพ่อง ทำพิธีร่วมพิธีไหว้เจดีย์ไฟ ในเทศกาลบุญออกพรรษา ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11เพื่อความเป็นศิริมงคลและต่อชะตาชีวิต ตามความเชื่อของบรรพบุรุษ
เมื่อคืนที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับวันแรมขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 ซึ่งตรงกับคืนวันออกพรรษา เป็นค่ำคืนที่พระจันทร์เต็มดวง สว่างไปทั่วผืนป่า เป็นการบ่งบอกให้รู้ว่าคืนนี้ ชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง ในตำบลไล่โว่ จะประกอบพิธีไหว้เจดีย์ไฟ ซึ่งเป็นพิธีกรรมที่สำคัญหนึ่งในงานบุญออกพรรษา ที่จัดกันทุกหมู่บ้านในพื้นที่ตำบลไล่โว่ นับว่าเป็นการสืบสานประเพณีวัฒนธรรมสืบทอดกันมาหลายรุ่นให้ชนรุ่นหลังได้สานต่อไป
วันนี้ 22 ต.ค. 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บ้านสะเนพ่อง ต.ไล่โว่ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี มีการจัดพิธีไหว้เจดีย์ไฟ เหมือนทุกปีที่ผ่านมา ภายใต้มาตรการป้องกันโควิด-19 ด้วยการให้ชาวบ้านทุกคนที่เข้าร่วมพิธีสวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันโควิด-19 ซึ่งเมื่อพระอาทิตย์เริ่มตกดิน ชาวบ้านทุกเพศ ทุกวัย ต่างทยอยเดินทางมาที่วัดสะเนพ่อง ซึ่งเป็นวัดประจำหมู่บ้าน เพื่อไหว้พระ รับศีลรับพร จากพระสงฆ์ที่จำพรรษาอยู่ที่วัดแห่งนี้ตลอดช่วงเข้าพรรษา
ภายหลังจากเสร็จสิ้นพิธีกรรมทางศาสนา บนวัดแล้วชาวบ้านได้ย้ายลงมายังบริเวณลานหน้าวัด เพื่อร่วมพิธีการไหว้เจดีย์ไฟ ซึ่งเจดีย์ดังกล่าวได้จากการนำไม้ไผ่มาสาน เป็นรูปสี่เหลี่ยมลักษณะคล้ายพีระมิด อุปมาขึ้นเป็นเจดีย์ เพื่อไว้จุดเทียน ในการประกอบพิธี ซึ่งเทียนที่นำมาจุดบูชาเจดีย์ไฟนั้น เป็นเทียนที่ฟั่นขึ้นมาจากขี้ผึ้งที่หาได้จากในป่าธรรมชาติ ที่สำคัญต้องเป็นรังผึ้ง ที่ผึ้งป่าได้ที่ร้างไว้หลังจากได้มีการย้ายไปสร้างรังใหม่ จึงจะถือได้ว่าเป็นสิ่งของที่สะอาดและบริสุทธ์
นอกจากนั้นขั้นตอนสำคัญในการฟั่นเทียนอยู่ที่การนำเส้นด้ายที่จะทำไส้ของเทียน โดยจำนวนเส้นด้ายที่ได้จากการปลูกในไร่ข้าว มาทำเป็นไส้เทียน โดยจำนวนเส้นด้ายที่จะมาทำเป็นไส้เทียนนั้น ต้องมีจำนวนมากกว่าอายุของเจ้าของเทียน 1 เส้น (สมมุติถ้าเจ้าของอายุ 20 ต้องใช้ไส้เทียน จำนวน 21 เส้น)
ซึ่งเจดีย์ไฟที่ทำขึ้นมา จะมีจำนวนทั้งหมด 5 องค์ด้วยกัน ทั้งนี้ตามคติความเชื่อของชาวกะเหรี่ยงตำบลไล่โว่นั้น การบูชาเจดีย์ไฟนั้นถือเป็นบุญใหญ่ในช่วงเข้าพรรษา จัดขึ้นมาเพื่อ เป็นการบูชาพระพุทธเจ้าทั้ง 5 พระองค์ ซึ่งประกอบด้วย พระกกุสันโธ พระโกนาคมโน พระกัสสโป พระโคตโม และพระศรีอริยเมตไตรโย โดยมีการสัณณิฐานกันว่า ในอดีตการจะสร้างเจดีย์เหมือนปัจจุบัน เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก คนในอดีตจึงคิดค้นและดัดแปลงสิ่งที่มีอยู่รอบตัว มาสร้างให้มีรูปร่างลักษณะเหมือนหรือใกล้เคียง สิ่งที่ได้เห็นและได้รับรู้ต่อๆกันมา
การไหว้เจดีย์ไฟในคืน วันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 (คืนวันออกพรรษา)นอกจากจะเป็นการบูชาพระอรหันต์ทั้ง 5 พระองค์ แล้ว ยังมีความเชื่ออีกว่า การนำเทียนที่ทำขึ้นมาเอง โดยมีจำนวนไส้เทียนมากกว่าอายุเจ้าของ 1 เส้น (1ปี)นั้น ถือเป็นการต่อชะตาชีวิต ให้กับตนเอง เพื่อความเป็นศิริมงคล และ ให้ผ่านพ้นจากสิ่งมิดีมิร้ายทั้งปวง
ซึ่งปกติอีกกิจกรรมสำคัญที่มักจะพบเห็นในคืนวันออกพรรษา คือการปล่อยโคมลอยซึ่งชาวบ้าน จะร่วมกันทำโคมลอยปล่อยขึ้นสู่ท้องฟ้า ทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน ด้วยคติความเชื่อของชุมชน ที่เชื่อว่าการปล่อยโคมลอยและโคมไฟนั้น เป็น การส่งเหล่าเทวดาอารักษ์กลับขึ้นสู่สวรรค์ หลังจากได้ทำหน้าที่ลงมาช่วยปกปักษ์รักษาชาวบ้านให้รอดพ้นปลอดภัย จากเหตุเภทภัยจากพวก ปีศาจในช่วงเข้าพรรษา นอกจากนั้นยังเป็นการปล่อยทุกข์โศก สิ่งอัปมงคลทั้งหลาย ให้ลอยไปกับโคมได้ด้วย
แต่เนื่องจากปีนี้ในพื้นที่ยังคงมีฝนตกในช่วงเทศกาลออกพรรษา ทำให้ไม่สามารถปล่อยโคมลอยได้ เหมือนที่เคยทำในทุกๆปีที่ผ่านมา นอกจากนั้นพิธีไหว้เจดีย์ไฟ ก็ยังต้องย้ายเข้าไปทำในพื้นที่ใต้ถุนวัด เนื่องจากช่วงทำพิธีได้เกิดฝนตกลงมาอย่างหนัก แต่ถึงอย่างไรพิธีกรรมการไหว้เจดีย์ไฟ ในช่วงคืนวันออกพรรษาของชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงบ้านสะเนพ่อง ปีนี้ก็สามารถผ่านพ้นไปได้ด้วยดี
ปรีชา ไหลวารินทร์ / กาญจนบุรี