วันศุกร์, 7 กุมภาพันธ์ 2568

นาง สรัลพัชร ประโมทะกะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นประธานเปิดงานโครงการพัฒนามูลค่าแหล่งท่องเที่ยว เตรียมความพร้อมด้านบริการเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวระดับสูงในกลุ่มประเทศเอเชียใต้

นาง สรัลพัชร ประโมทะกะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นประธานเปิดงานโครงการพัฒนามูลค่าแหล่งท่องเที่ยว เตรียมความพร้อมด้านบริการเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวระดับสูงในกลุ่มประเทศเอเชียใต้

วันที่ 14 ธันวาคม 2564 เวลา 09.00 น. ณ ห้องดาหลา ชั้น 2 โรงแรมกรุงศรีริเวอร์ อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายวีระชัย นาคมาศ(นาค-คะ-มาด) ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มอบหมายให้ นางสรัลพัชร ประโมทะกะ รองผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานเปิดงานโครงการ “การพัฒนามูลค่าแหล่งท่องเที่ยว เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวระดับสูงในกลุ่มประเทศเอเชียใต้ ” โดยมี ดร.อับดุรเราะฮหมาน มูเก็ม หัวหน้าโครงการพัฒนามูลค่าแหล่งท่องเที่ยวฯ นายมานัส ทรัพย์มีชัย ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมด้วย ทีมคณาจารย์จากสถาบันเอเชียศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ส่วนราชการ เจ้าหน้าที่ และนักศึกษาที่สนใจ เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ
สำหรับการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ เพื่อทำความเข้าใจและสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับกลุ่มนักท่องเที่ยวระดับสูงในกลุ่มประเทศเอเชียใต้ รวมทั้งสำรวจความคิดเห็นต่อความพร้อม และพัฒนาศักยภาพด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่ต่อการรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวดังกล่าว พร้อมจัดทำข้อเสนอแนะ สถานที่ท่องเที่ยวต้นแบบที่เหมาะสมกับกลุ่มนักท่องเที่ยวระดับสูงจากเอเชียใต้โดยสถาบันเอเชีย

ด้าน นางสรัลพัชรฯ กล่าวว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ถือว่าเป็นเรื่องใหม่ และเป็นความท้าทายสำหรับจังหวัดพระนครศรีอยุธยา แม้ว่าที่ผ่านมากลุ่มนักท่องเที่ยวจากเอเชียใต้ โดยเฉพาะประเทศอินเดีย ศรีลังกา และปากีสถาน จะเข้ามาเที่ยวในจังหวัดของเราแล้วก็ตาม แต่กลุ่มนักท่องเที่ยวระดับสูงนับว่ามีอยู่น้อยมาก ในขณะที่จังหวัดฯ มีศักยภาพด้านการรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวทุกกลุ่ม อีกทั้งมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทั่วโลก เนื่องจากเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ของชาติ และเป็นมรดกโลกที่นานาชาติต่างให้การยอมรับ ยังมีความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมระหว่างชาวเอเชียใต้และอยุธยามาอย่างต่อเนื่อง อาทิ วัดธรรมาราม ที่มีประวัติความเป็นมาสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ด้านพระพุทธศาสนาระหว่างประเทศไทยและศรีลังกา และประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างชาวอินเดียและกรุงศรีอยุธยา ดังนั้น การเตรียมความพร้อมเพื่อให้เกิดแรงดึงดูดกลุ่มนักท่องเที่ยวระดับสูงจากกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้ ถือว่ามีความสำคัญมาก ทั้งในด้านการพัฒนาศักยภาพคน พัฒนาด้านกายภาพ และพัฒนาสภาพแวดล้อม จะเป็นส่วนหนึ่งในการเสริมสร้างเครือข่าย สร้างองค์ความรู้ใหม่ เพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ดึงดูดกลุ่มนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ และลดการกระจุกตัวของกลุ่มนักท่องเที่ยวจากเขตเมืองสู่การท่องเที่ยวท้องถิ่นอีกด้วย

สุขุม แก้วกุดั่น อยุธยา

Loading