นครปฐม”วัดวังตะกูโมเดลปลูกผักสนุกจัง “สานพลังการอ่าน สู่เมืองอาหารปลอดภัยเพื่อเด็ก”
เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2564 เวลา 09.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่จังหวัดนครปฐม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม ร่วมกับวัดวังตะกู และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงานวัดวังตะกูโมเดล ปลูกผักสนุกจัง “สานพลังการอ่าน สู่เมืองอาหารปลอดภัยเพื่อเด็ก” ณ ลานริมน้ำ วัดวังตะกู อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม
มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม ร่วมกับวัดวังตะกู และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงาน วัดวังตะกูโมเดล : ปลูกผักสนุกจัง “สานพลังการอ่าน สู่เมืองอาหารปลอดภัยเพื่อเด็ก” โดยมี พระครูปลัดสาธุวัฒน์ เจ้าคณะตำบลทัพหลวง เจ้าอาวาสวัดวังตะกู เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ดร.วิรัตน์ ปิ่นแก้ว อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม ให้เกียรติมาเป็นประธานเปิดงานฯ กล่าวรายงานโดย อาจารย์พีรพัฒน์ พันศิริ อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม รศ.ดร.เกศินี ประทุมสุวรรณ อาจารย์ประจำสาขาวิชานิเทศศาสตร์ ที่ปรึกษาศูนย์วิชาการเพื่อการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ศูนย์ประสานงานภาคีพัฒนา จังหวัดนครปฐม มูลนิธิปันสุข จังหวัดนครปฐม และผู้ขับเคลื่อนงานโครงการวัดวังตะกูโมเดลฯ อาจารย์สุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. ผอ. บุรพบท สุขเนียม ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดวังตะกู (เสรีเริงฤทธิ์อุปถัมภ์) นางมยุรีย์ ช่างเกวียน กำนันตำบลวังตะกู อาจารย์ณภัทร เล็กแดงอยู่ ข้าราชการในพื้นที่ นายชาตรี เกิดโถ ไร่รัชยา เกษตรอินทรีย์ หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำชุมชน นักเรียน นักศึกษา ประชาชน เข้าร่วมงานดังกล่าว
วังตะกูโมเดล ปลูกผักสนุกจัง เป็นหนึ่งในโครงการ “สานพลังการอ่านสู่นครปฐม เมืองอาหารปลอดภัยเพื่อเด็ก” ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์ พื้นที่ต้นแบบเกษตรปลอดสาร และแหล่งเรียนรู้ชุมชน ตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยเป็นการบูรณาการโดยใช้กิจกรรมส่งเสริมการอ่านของเด็กในชุมชนเป็นกระบวนการและเครื่องมือในการขับเคลื่อนการพัฒนา ประกอบกับการพัฒนาแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับการทำเกษตรปลอดภัยในพื้นที่ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของเด็กเยาวชนและประชาชนทั่วไป
ผลลัพธ์สำคัญของการดำเนินงานประกอบด้วย
1) พื้นที่การเรียนรู้ “สวนเกษตรอินทรีย์ ตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียงของพ่อ” ในพื้นที่วัดวังตะกู
ประกอบด้วยฐานการเรียนรู้ที่สำคัญ อาทิ การปลูกผักปลอดภัย การเลี้ยงไก่ไข่อินทรีย์ การทำปุ๋ยไส้เดือน การทำซุ้มเห็ดใต้ร่มพระบารมี เป็นต้น โดยเฉพาะการจัดหาพันธุ์ไก่ และการจัดหาพันธุ์เห็ด ได้รับการสนับสนุนอย่างดียิ่งจากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม 2) ส่งเสริมการอ่านระดับครัวเรือน ด้วยการจัดหาหนังสือนิทานสำหรับเด็กและเมล็ดพันธุ์ผักแก่ครอบครัวที่มีเด็กปฐมวัย จำนวน 80 ครัวเรือนในชุมชน 3) สนับสนุนการจัดทำแปลงปลูกผักในชุมชน อาทิ การจัดทำแปลงผักปลอดสารภายในพื้นที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก หมู่ 2 หมู่ 4 และ กศน. ตำบลวังตะกู
การดำเนินกิจกรรมดังกล่าวได้ดำเนินการมากว่า 1 ปี และยังมีการดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่องต่อไป ซึ่งมีหน่วยงานที่ร่วมบูรณาการ ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน (Reading Culture Promotion Program) สสส. ร่วมกับวัดวังตะกู และภาคีที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบลวังตะกู กำนันมยุรี ช่างเกวียน ศูนย์พัฒนาเด็กวัดวังตะกู กศน. ตำบลวังตะกู โรงเรียนวัดวังตะกู โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลวังตะกู กลุ่มเครือข่ายเกษตรปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่ ได้แก่ ไร่รัชยา เกษตรอินทรีย์
การจัดกิจกรรมดังกล่าว จัดว่าเป็นการบูรณาการการเรียนรู้การพัฒนาพื้นที่เกษตรปลอดสาร อาหารปลอดภัย การเรียนรู้หลักคิดการดำเนินชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง การบูรณาการอ่านกับการพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์ภายใต้การนำขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในลักษณะ “บวร” คือ บ้าน วัด โรงเรียน และหน่วยงานราชการ กิจกรรมสำคัญประกอบด้วย นิทรรศการมีชีวิต การเสวนา การฝึกทักษะการอ่าน และฐานการเรียนรู้ต่าง ๆ จำนวน 8 ฐาน ได้แก่ ฐาน 1 ปรุงดิน พร้อมปลูกผัก ฐาน 2 การเลี้ยงไส้เดือน ร่อนปุ๋ยไส้เดือน การเลี้ยงไก่ไข่ และเพาะเห็ดนางฟ้า ฐาน 3 พิพิธภัณฑ์วัดวังตะกู ฐาน 4 ภูมิปัญญาด้านการจักสาน ฐาน 5 ปลูกปรุงรัก ด้วยการอ่าน (ปฏิบัติการ ไอติมดอกไม้) ฐาน 6 รถโมบายเคลื่อนที่ ห้องสมุดประชาชนจังหวัดนครปฐม ฐาน 7 การแปรรูปอาหาร (สลัดโรล และเฉาก๊วยนมสด) และ ฐาน 8 แหล่งท่องเที่ยวริมน้ำวัดวังตะกู
สำหรับวัดวังตะกู นอกจากเป็นวัดที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาให้แก่พุทธศาสนิกชน ซึ่งมีการดำเนินการสร้างศูนย์ปฏิบัติธรรมวัดวังตะกู อีกทั้งยังมีสถานีวิทยุกระจายเสียงพระพุทธศาสนา วัดวังตะกู เพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้กับประชาชนออกไปในวงกว้าง ยังได้ดำเนินการเปิดพื้นที่บริเวณวัดให้กับประชาชนในการสร้างเป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง อนุรักษ์ฟื้นฟูขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมให้กับชุมชน และประชาชน นักเรียน นักศึกษา เป็นการบ่มเพาะจิตใจ ให้เกิดคุณธรรม จริยธรรม และเป็นการฝึกฝนการเรียนรู้ในอาชีพต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนสามารถนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน และพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนต่อไป
กลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย เด็กปฐมวัย พร้อมผู้ปกครองในชุมชนวังตะกู นักเรียนในโรงเรียนวัดวังตะกู เครือข่ายผู้ทำเกษตรอินทรีย์และเกษตรปลอดภัยในพื้นที่ กลุ่มภูมิปัญญาและกลุ่มแม่บ้านวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่
ชนิดา พรหมผลิน/นครปฐม