วันอังคาร, 4 กุมภาพันธ์ 2568

นาย ประทีป การมิตรี รองผู้ว่าราชการจังหวัด พระนครศรีอยุธยา เป็นประธาน เปิด 4 ทุ่งประวัติศาสตร์ เป็นแหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้ตามรอยพระราชดำริ

นาย ประทีป การมิตรี รองผู้ว่าราชการจังหวัด พระนครศรีอยุธยา เป็นประธาน เปิด 4 ทุ่งประวัติศาสตร์ เป็นแหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้ตามรอยพระราชดำริ

วันที่ 15 กพ. ที่ห้องประชุมมหาธาตุ ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายประทีป การมิตรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นประธานการประชุมซักซ้อมและขับเคลื่อนการดำเนินงานของคณะทำงานและวางแนวทางการดำเนินงานเส้นทางตามรอยพระราชดำริ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมี นายไพศาล สังข์มงคล เลขานุการคณะทำงานฯ หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง อาทิ วัฒนธรรม ท่องเที่ยวและกีฬา ศึกษาธิการ ประชาสัมพันธ์ ปฏิรูปที่ดิน เกษตรจังหวัด เข้าร่วมประชุม

สืบเนื่องจากคณะกรรมาธิการวิสามัญการพิทักษ์และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ วุฒิสภา โดยนายวิทยา ผิวผ่อง เป็นประธานฯ ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษา ติดตาม และสืบสานแนวพระราชดำริ ซึ่งได้กำหนดให้มีการฟื้นฟูพัฒนาสถานที่สำคัญ 4 เส้นทาง ได้แก่ อนุสรณ์สถานแห่งความจงรักภักดี (ทุ่งหันตรา) พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย ทุ่งมะขามหย่อง ทุ่งภูเขาทอง และแปลงโฉนดที่ดินฉบับแรกของประเทศไทย

โดยที่ประชุมฯ ได้พิจารณาเพิ่มเติมเส้นทางท่องเที่ยวตามรอยพระราชดำริที่สำคัญอีก 2 แห่ง คือ วัดไชยวัฒนาราม และวัดนิเวศธรรมประวัติราชวรวิหาร นอกจากนี้ ยังจะขยายไปยังเส้นทางที่เกี่ยวข้องอีก 7 แห่ง ที่อยู่ในโครงการพระราชดำริ รวมทั้งเป็นสถานที่เคยมีการเสด็จฯ ได้แก่ คลองเปรมประชากร เขตบางไทร บางปะอิน โครงการแก้มลิงหนองเจ็ดเส้น บางปะหัน ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร ศูนย์ศิลปาชีพเกาะเกิด บางปะอิน โครงการฟาร์มตัวอย่างหนองงูเห่า นครหลวง พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย และพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้การท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัด ร่วมกับวัฒนธรรมจังหวัด วางเส้นทางการเชื่อมโยงการท่องเที่ยว และบรรจุข้อมูลผ่าน QR-Code เพื่อสืบค้นข้อมูล โดยทางประชาสัมพันธ์จังหวัดยังให้แนวคิดในการเริ่มต้นการท่องเที่ยวที่ศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยาก่อนเดินทางไปจุดต่างๆ

นายประทีป การมิตรี กล่าวว่า สิ่งแรกคือต้องการให้มีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทั่วไปรับรู้ และมีความเข้าใจในความสำคัญของสถานที่ต่างๆ ที่มาจากพระมหากรุณาธิคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งพบว่าแต่ละแห่งมีผู้ดูแลรับผิดชอบ แต่เนื่องจากบางแห่งชำรุดทรุดโทรม ต้องเร่งพัฒนาปรับปรุง เพื่อให้สถานศึกษาได้นำเด็ก นักเรียน เยาวชน ไปเยี่ยมชม ศึกษาเรียนรู้ พร้อมซึมซับสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และรักษาปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งทั้งหมดจะกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว และสร้างรายได้ให้ชุมชน ทั้งนี้ จะได้มีการสรุปเส้นทาง เชื่อมโยงการจัดกิจกรรมตามช่วงเวลา และสถานที่ต่างๆ ที่กล่าวมา เพื่อเชิญชวนนักท่องเที่ยวตามรอยพระราชดำริต่อไป

สุขุม แก้วกุดั่น อยุธยา

Loading