วันพฤหัสบดี, 23 มกราคม 2568

นครปฐม ม.มหิดล เปิดตัว “สถาบันปัญญาประดิษฐ์มหิดล” นำ AI ยกระดับวงการแพทย์ไทยสู่เครือข่ายนานาชาติ

 

นครปฐม ม.มหิดล เปิดตัว “สถาบันปัญญาประดิษฐ์มหิดล” นำ AI ยกระดับวงการแพทย์ไทยสู่เครือข่ายนานาชาติ

มหาวิทยาลัยมหิดล จับมือพันธมิตร ภายใต้การสนับสนุนจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดพิธีเปิดศูนย์วิจัย AI “สถาบันปัญญาประดิษฐ์มหิดล” หรือ “Mahidol AI Center” เพื่อยกระดับการวิจัยสู่เครือข่ายระดับชาติ โดยสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ทีมแพทย์ได้นำนวัตกรรมปรับใช้ประเมินอาการรักษาผู้ติดเชื้อ พร้อมประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดได้แม่นยำ

เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 65 ที่ผ่านมา ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานในพิธีเปิดสถาบันปัญญาประดิษฐ์มหิดล (Mahidol AI Center) โดยมี ศาสตราจารย์ นพ. บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย พร้อมด้วยผู้บริหารมหาวิทยาลัยและผู้แขกผู้มีเกียรติจากกระทรวง อว. บริษัท จีเอเบิล จำกัด บริษัท NVIDIA จำกัด และคณะผู้ติดตามฯ เข้าร่วมพิธีเปิดสถาบันปัญญาประดิษฐ์มหิดล (Mahidol AI Center) ณ อาคารคณะ ICT มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา

ศาสตราจารย์ นพ. บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เผยว่า มหาวิทยาลัยมหิดลได้มีการนำ IT system ซึ่งเป็นการนำระบบ AI มาใช้ในการวิเคราะห์ ทำนายและเก็บข้อมูลเกี่ยวกับโรคต่าง ๆ ประเมินเกี่ยวกับโรคต่าง ๆ หรือแม้ในเรื่องของพันธุกรรม ซึ่งข้อมูลเหล่านี้มีฐานข้อมูลที่ใหญ่มาก ซึ่งการนำ ปัญญาประดิษฐ์ มาใช้ทำให้เกิดการทำงานที่รวดเร็วและแม่นยำ ซึ่งการเปิดตัว “สถาบันปัญญาประดิษฐ์มหิดล” จะเป็นการสร้าง Station เพื่อพัฒนากำลังคน เพื่อการวิจัยค้นคว้า ซึ่งจะมีการให้บริการเพื่อทำให้ทรัพยากรบุคคลากรมีการพัฒนาอีกหลายองค์กร เพื่อรองรับการพัฒนาในอนาคต โดยระบบ AI ที่มหาวิทยาลัยมหิดลได้มีการดำเนิน จะทำให้เกิดเข้ามาเรียนรู้และจะได้มีการเข้ามาสัมผัสระบบการทำงาน โดยมีตัวอย่างให้เห็นข้อมูลทั้งหมดและได้ทราบจากข้อมูลจริง ซึ่งมหาวิทยาลัยมหิดลมีความเชี่ยวชาญทั้งในวงการแพทย์และวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งเราจะสร้างมาตรฐานกฎเกณฑ์เพื่อให้ตรงกับข้อมูลของภาครัฐและก้าวไปสู่เวทีสากลได้

ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เผยว่า ปัจจุบันได้มีการมุ่งเน้นการศึกษาให้มีการผลิตบุคคลากรให้ตรงกับความต้องการในการขับเคลื่อนประเทศ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ให้แนวทางคือให้ทุกสถาบันการศึกษานำความจุดเด่นที่มีความเชี่ยวชาญในด้านนั้น ๆมาผลิตคนให้ตรงกับความต้องการ ซึ่งตอนนี้ทั่วโลกต่างให้ความสนใจในเรื่องของ ปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งจะทำให้คนมีความรู้และสามารถเชื่อมโยงหลักวิชาการไปสู่ผู้ใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งปัญญาประดิษฐ์ แบ่งออก คือเรื่องของปัญญา คือสมอง ที่มีความสามารถในการวิเคราะห์ ประเมินสิ่งที่เกิดขึ้นได้ และส่วนสิ่งประดิษฐ์ ซึ่งคอมพิวเตอร์ก็เป็นส่วนหนึ่งในนั้นซึ่งหากเราพัฒนาคอมพิวเตอร์ให้พัฒนาขึ้นเราก็จะสามารถนำมาต่อยอดได้ซึ่งโดยหลักคือการมีข้อมูล การสร้างการเรียนรู้ และทำให้เกิดปัญญาได้ ซึ่งตอนนี้ มีการพัฒนาระบบ AI อย่างต่อเนื่อง

“ที่ผ่านมาในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เราได้นำระบบมาใช้เยอะมาก เช่นเรื่องการอ่านค่าฟิล์มของผู้ป่วย ซึ่งมีศักยภาพสูงไม่แพ้การอ่านค่าจากแพทย์โดยตรงโดยมีความแม่นยำและรวดเร็วมาก โดยเรายังได้นำมาใช้ในการพยากรณ์กับสิ่งที่เกิดขึ้น การคะเนเรื่องสถ่านการณ์ต่าง ๆ ทั้งในเรื่องอัตราการติดเชื้อ และสถานการณ์แต่ละช่วง โดยมหาวิทยาลัยมหิดลมีความเชี่ยวชาญในเรื่องนี้ทำให้เราสามารถสนธิกำลังของหลายหน่วยง่านในการเร่งแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้” ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวปิดท้าย

สถาบันปัญญาประดิษฐ์มหิดล (Mahidol AI Center) ตั้งอยู่ ณ ลาน Innovative Space ชั้น 1 อาคารคณะ ICT มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา โดยสถาบันฯ นี้จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการค้นคว้า และวิจัยด้านการแพทย์ โดยมุ่งเน้นที่จีโนมิกส์ โปรตีโอมิกส์ พยาธิวิทยา และรังสีวิทยา ซึ่งจะช่วยให้เกิดความร่วมมือด้านการวิจัยแบบ Federated Learning และช่วยให้นักวิจัยสามารถแก้ปัญหาที่ท้าทายบนแพลตฟอร์มที่ทันสมัยทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ โดยในขั้นต้น สถาบันฯ จะสนับสนุนโครงการต่าง ๆ จากกลุ่มความเป็นเลิศด้านการวินิจฉัยทางการแพทย์ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI), ศูนย์ปฏิบัติการด้านชีววิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ และแพลตฟอร์มการค้นคว้ายาแบบบูรณาการด้วยปัญญาประดิษฐ์ โดยในระยะเริ่มต้น เป็นความร่วมมือระหว่างคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะเภสัชศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน และวิทยาลัยราชสุดา และจะขยายไปยังคณะและสถาบันอื่น ๆ ภายในมหาวิทยาลัยต่อไป

 

 

Loading