วันพฤหัสบดี, 21 พฤศจิกายน 2567

ส่งเสริมสนับสนุนการอนุรักษ์ฟื้นฟูขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น

​นครปฐมส่งเสริมสนับสนุนการอนุรักษ์ฟื้นฟูขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น

เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2565 เวลา 09.30 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่วัดลำพญา อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม นายสุรศักดิ์ เจริญศิริโชติ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม เป็นประธานเปิดโครงการส่งเสริมสนับสนุนการอนุรักษ์ฟื้นฟูขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น จังหวัดนครปฐม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 : กิจกรรมวัฒนธรรมพาเพลินเดินตลาดน้ำวัดลำพญา และโครงการ “ฟื้นฟู รักษา สืบสาน และต่อยอด หน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลวัดลำพญา” โดยมีพระเทพศาสนาภิบาล เจ้าคณะภาค 14 เจ้าอาวาสวัดไร่ขิง พระอารามหลวง เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ พระมหาอดิเรก ฐิตวุฑฺฒิ,ดร. เจ้าอาวาสวัดลำพญา อำนวยการจัดงานฯ พร้อมด้วยนายชยชัย แสงอินทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม นางวราภรณ์ เจริญศิริโชติ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดนครปฐม นางฐิติรัตน์ เรืองสังข์ วัฒนธรรมจังหวัดนครปฐม นายประดับ โพธิกาญจนวัตร ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดนครปฐม นางพัชรี เรือนอินทร์ ประชาสัมพันธ์จังหวัดนครปฐม นางสาวอรพร คัมภีรศาสตร์ ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม นางนภาพรรณ จิตต์กระจ่าง ผู้อำนวยการยุทธศาสตร์ และเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม นางสาวศนิษา ไพบูลย์อัตถกิจ นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ นายณรงค์ศักดิ์ เลิศสิทธิพันธ์ อดีตนายกองค์การบริหารส่วนตำบลลำพญา ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และผู้นำในพื้นที่ เข้าร่วมงานดังกล่าวตามที่กระทรวงวัฒนธรรมได้กำหนดนโยบายการขับเคลื่อนงานวัฒนธรรม สืบสาน รักษา และต่อยอด ทางวัฒนธรรม เพื่อให้เกิดคุณค่าและมูลค่าอย่างสร้างสรรค์โดยบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนขับเคลื่อน งานด้านวัฒนธรรมมุ่งเน้นการท่องเที่ยวชุมชนยลวิถี ภายใต้แนวคิด “

วัฒนธรรมทำดี ทำงาน ทำเงิน” สร้างรายได้สู่ชุมชน
​ตลาดน้ำวัดลำพญา อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม เป็นอีกหนึ่งตลาดน้ำที่มีความหลากหลายทั้งผลิตภัณฑ์พืช ผัก ทางการเกษตร ของกิน ของใช้ และผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย ที่บ่งบอกถึงวิถีชีวิต ตัวตนของผู้คนในชุมชน ตลาดน้ำวัดลำพญาเป็นตลาดชุมชนที่อยู่บริเวณแม่น้ำท่าจีน เปิดให้บริการเมื่อปี พ.ศ. 2542 เป็นแหล่งรวบรวมมรดกภูมิปัญญาของคนในชุมชน มีกิจกรรมที่สะท้อนถึงเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ของชุมชน ทั้งในรูปแบบของวิถีชีวิต พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน ผลิตภัณฑ์ชุมชน ภูมิปัญญาท้องถิ่นและศิลปวัฒนธรรมที่สามารถส่งเสริมการท่องเที่ยวจากการนำทุนทางวัฒนธรรมมาสร้างการเรียนรู้ สร้างงาน สร้างรายได้ ให้แก่ประชาชน ชุมชน และท้องถิ่น “ตลาดน้ำลำพญา” จึงเป็นตลาดน้ำที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักในระดับประเทศ มีนักท่องเที่ยวมากกว่า 5,000 คน/สัปดาห์ มีรายได้หมุนเวียนในชุมชน 1,500,000 – 2,000,000 บาท/เดือน
​จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ประกอบกับได้เกิดอุทกภัย ส่งผลให้ตลาดน้ำวัดลำพญาได้รับผลกระทบ

สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครปฐมตระหนักถึงผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวจึงได้กำหนดจัดโครงการส่งเสริมสนับสนุนการอนุรักษ์ฟื้นฟูขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น จังหวัดนครปฐม กิจกรรมวัฒนธรรมพาเพลินเดินตลาดน้ำวัดลำพญา ภายในงานประกอบด้วยกิจกรรมการแสดง ทางวัฒนธรรมจากนักเรียนโรงเรียนสถาพรวิทยา การแสดงโปงลางจากคณะศรีอุบลโปงลาง การสาธิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย อาทิ การทำขนมดอกจอก หมี่กรอบโบราณ ตระกร้าสานจากเส้นพลาสติก การทำพวงมาลัยผ้าขาวม้า ตุ๊กตาหัวจุกการบูร และงานประดิษฐ์สายคล้องแมส ซึ่งในบริเวณพื้นที่โดยรอบนักท่องเที่ยวสามารถไหว้พระขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เลือกชม ช้อป ชิม สินค้าผลผลิตทางการเกษตร อาหารคาว หวาน อันหลากหลายบนแพที่อยู่เรียงรายในแม่น้ำ นอกจากนี้ยังได้สัมผัสกับบรรยากาศริมน้ำหน้าวัดและล่องเรือไว้พระชมวิถีชีวิตริมแม่น้ำท่าจีน

​สำหรับโครงการ “ฟื้นฟู รักษา สืบสาน และต่อยอด หน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลวัดลำพญา” ได้รับความเมตตาจากพระเทพศาสนาภิบาล เจ้าคณะภาค 14 เจ้าอาวาสวัดไร่ขิง พระอารามหลวง ได้มอบคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล (อ.ป.ต.วัดลำพญา) สาระสำคัญคือให้มีการดำเนินงานหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล ในรูปแบบคณะกรรมการจากทั้งพระสงฆ์ ผู้นำชุมชน และประชาชนผู้ทรงคุณวุฒิ และให้เจ้าคณะผู้ปกครองสงฆ์ทุกระดับชั้น ดำเนินการตามระเบียบที่กำหนดไว้ เพื่อก่อตั้งหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลให้ครบทุกเขตปกครองคณะสงฆ์ในระดับตำบล ทำให้ในปัจจุบัน หน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล มีจำนวนกว่า 5,922 หน่วย กระจายอยู่ในเกือบทุกตำบลในประเทศไทย

​วัดลำพญา ได้จัดตั้งเป็นหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2548 เพื่อเป็นการสนองงานคณะสงฆ์ตามมติมหาเถรสมาคม โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือ เพื่อประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันทั้งฝ่ายพระสงฆ์และฝ่ายคฤหัสถ์ ในการขับเคลื่อนงาน อปต.ทั้ง 8 ด้าน (1.ด้านศีลธรรมและวัฒนธรรม 2. ด้านสุขภาพอนามัย 3. ด้านสัมมาชีพ 4. ด้านสันติสุข 5. ด้านศึกษาสงเคราะห์ 6. ด้านสาธารณสงเคราะห์ 7. ด้านกตัญญูกตเวทิตาธรรม 8. ด้านสามัคคีธรรม











ชนิดา พรหมผลิน/นครปฐม

Loading