กาญจนบุรี – ในช่วงฤดูฝนสสจ.กาญจน์ เตือนประชาชนป้องกันโรคไข้เลือดออก “อย่าให้ยุงกัด” พร้อมย้ำมาตรการ 3 เก็บป้องกัน 3 โรค
วันนี้ 08 ส.ค. 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี ขอความร่วมมือประชาชนป้องกันโรคไข้เลือดออก พร้อมเตือน “อย่าให้ยุงกัด” รวมทั้งเน้นย้ำการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายด้วยมาตรการ 3 เก็บป้องกัน 3 โรค ป้องกันป่วยโรคไข้เลือดออก
นายแพทย์ชาติชาย กิติยานันท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรคได้ทำหนังสือแจ้งเตือนเฝ้าระวังการระบาดของไข้เลือดออกไปยังนายแพทย์สาธารณสุขทุกจังหวัด รวมทั้งผู้บริหารสถานศึกษาทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เพื่อกำชับมาตรการลดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงและเตรียมความพร้อมด้านการสอบสวน/ควบคุมป้องกันโรคภายใต้ พ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ.2555รวมทั้งความพร้อมด้านการวินิจฉัยและรักษาพยาบาลหากเกิดการระบาดสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในช่วงนี้ มีแนวโน้มพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นฤดูฝน มีฝนตกอย่างต่อเนื่องทำให้เกิดน้ำขังค้างในภาชนะต่างๆ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี ขอแนะนำประชาชนในการดูแลตนเอง ป้องกัน “ไม่ให้ยุงกัด” โดยสวมใส่เสื้อผ้าสีอ่อน ไม่อยู่ในที่มืด อับทึบ ใช้สารไล่ยุงชนิดต่างๆ หรือยาทากันยุง ใช้ไม้ช็อตยุง นอนในมุ้ง รวมทั้งเน้นย้ำมาตรการ 3 เก็บป้องกัน 3 โรค ป้องกันป่วยโรคไข้เลือดออก
สถานการณ์โรคไข้เลือดออกจังหวัดกาญจนบุรี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 3 สิงหาคม 2565 พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก จำนวน 90 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 8.94 ต่อแสนประชากร ไม่มีผู้ป่วยเสียชีวิต อำเภอที่พบผู้ป่วยมากที่สุด ได้แก่ อำเภอท่ามะกา จำนวน 43 ราย อำเภอท่าม่วง จำนวน 22 ราย และอำเภอทองผาภูมิ จำนวน 11 ราย (อัตราป่วย 47.78, 24.44, และ 12.22 ต่อแสนประชากร ตามลำดับ) ในช่วงนี้มีโอกาสพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีฝนตกลงมาในหลายพื้นที่ ทำให้มีน้ำขังตามภาชนะต่างๆ ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย เป็นปัจจัยสนับสนุนให้เกิดการระบาดของโรคได้ จึงขอแนะนำประชาชนให้ช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบริเวณบ้านและโรงเรียนทุกแห่ง ด้วยมาตรการ 3 เก็บป้องกัน 3 โรค (โรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา)
ขอความร่วมมือประชาชนร่วมกันจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ตามมาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” เก็บบ้านให้สะอาด เช่น พับเก็บเสื้อผ้าใส่ในตู้หรือแขวนให้เรียบร้อย เพื่อไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง เก็บขยะที่อยู่บริเวณรอบบ้าน เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ตัดแต่งกิ่งไม้และบริเวณรอบบ้านให้โปร่งโล่ง เก็บน้ำ ภาชนะที่ใส่น้ำเพื่ออุปโภค บริโภค ต้องปิดฝาให้มิดชิด ล้างคว่ำภาชนะใส่น้ำ และเปลี่ยนน้ำในกระถางหรือแจกันทุกสัปดาห์ ป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่ เก็บขยะภายในบริเวณบ้านและโรงเรียนให้เรียบร้อย ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย และจัดกิจกรรมเสริมในการจัดการสิ่งแวดล้อมกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงในโรงเรียน เช่น กิจกรรม BIG CLEANING DAY รวมถึงการป้องกันตนเองจากการถูกยุงกัด ทั้งในบริเวณบ้านและโรงเรียน
นอกจากนี้ หากประชาชนหรือบุตรหลาน มีอาการไข้สูงลอย รับประทานยาแล้วไข้ไม่ลด หรือ ไข้ลดแล้วไข้กลับมาสูงอีก ร่วมกับอาการปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดกระบอกตา หรือมีจุดเลือดออกที่ลำตัว และแขน ขา ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง โดยเฉพาะยาลดไข้ในกลุ่มแอสไพริน และไอบูโพรเฟน และหากมีอาการ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หายใจเหนื่อยหอบ เบื่ออาหาร ปวดท้องร่วมด้วย ซึ่งอาจเป็นการเจ็บป่วยร่วมกันระหว่างไข้เลือดออก กับโรคโควิด 19 ทำให้อาการทรุดหนักอย่างรวดเร็ว ดังนั้นเมื่อมีอาการสงสัยดังกล่าวควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโรคให้ชัดเจน เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม และช่วยป้องกันการเสียชีวิตได้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
ปรีชา ไหลวารินทร์ / กาญจนบุรี