วันจันทร์, 23 ธันวาคม 2567

อลงกรณ์”ชูนครปฐมเมืองอุตสาหกรรมเกษตรไฟเขียวแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์จังหวัดนครปฐม 5 ปี (2566-2570) ย้ำเร่งเดินหน้าพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนระดับตำบลและชุมชนเมือง

“อลงกรณ์”ชูนครปฐมเมืองอุตสาหกรรมเกษตรไฟเขียวแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์จังหวัดนครปฐม 5 ปี (2566-2570) ย้ำเร่งเดินหน้าพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนระดับตำบลและชุมชนเมือง

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะ เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์จังหวัดนครปฐม โดยมี นายรัฐศาสตร์ ชิดชู รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม นายพูลลาภ อุไรงาม เกษตรและสหกรณ์จังหวัดนครปฐม นายศิริชัย เลี้ยงอำนวย เกษตรจังหวัดนครปฐม นายสมคิด เปี่ยมค้า นายณฐกร สุวรรณธาดา คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายจิตติศักดิ์ ศรีปัญญา ผู้อำนวยการกองนโยบายเทคโนโลยีเพื่อการเกษตรและเกษตรกรรมยั่งยืน พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ให้การต้อนรับและเข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสามัคคีมุขมาตย์ ชั้น 4 (ส่วนต่อขยาย) ศาลากลางจังหวัดนครปฐม

นายอลงกรณ์ กล่าวว่า นครปฐมเป็นเมืองอุตสาหกรรมเกษตรที่สำคัญของประเทศและเป็นเมืองหลักของจังหวัดปริมณฑล สำหรับการขับเคลื่อนการดำเนินงานภาคการเกษตรในพื้นที่จังหวัดนครปฐม ตามนโยบาย 5 ยุทธศาสตร์ 15 นโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีโครงการสำคัญที่ดำเนินการใน 5 เรื่อง ได้แก่
1) การขับเคลื่อนการเกษตรระดับหมู่บ้านสู่การผลิตสินค้าเกษตรมูลค่าสูง
2) การพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง
3) การพัฒนาการเกษตรกรรมยั่งยืนระดับตำบล
4) การขับเคลื่อน BCG ด้านการเกษตร
5) การขับเคลื่อนการดำเนินงานศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC)

และการบริหารจัดการเชิงพื้นที่จังหวัดนครปฐม มีสินค้าสำคัญ ทั้งด้านพืช ประมง และปศุสัตว์ ได้แก่ ข้าว กล้วยไม้ มะพร้าวน้ำหอม กุ้งขาว กุ้งก้ามกราม ปลานิล สุกร โคนม และไก่ไข่
ซึ่งการประชุมในครั้งนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบ (ร่าง) แผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์จังหวัดนครปฐม ฉบับ 5 ปี (พ.ศ.2566 – 2570) ฉบับทบทวน รอบปี พ.ศ.2567 ที่จะเป็นกรอบในการขับเคลื่อนงานภาคการเกษตรในพื้นที่ต่อไปแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์จังหวัดนครปฐม 5 ปี(2566-2570)

“กระทรวงเกษตรฯ มุ่งขับเคลื่อนภาคการเกษตรสู่เกษตรมูลค่าสูง (Next Normal) โดยมี 12 คานงัดสำคัญ ได้แก่
1) ศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC) 2) ศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ
3) ดิจิตอล ทรานสฟอร์เมชั่น (Digital Transformation)
4) เกษตรอัจฉริยะและตลาดออนไลน์
5) เกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง-ชนบท
6) เกษตรแห่งอนาคต อาหารแห่งอนาคต
7) โลจิสติกส์เกษตรเชื่อมไทย-เชื่อมโลก
8) เกษตรแปลงใหญ่ สตาร์ทอัพเกษตร
9) ยกระดับเกษตรกรก้าวใหม่
10) เกษตรสร้างสรรค์ สู่เกษตรมูลค่าสูง (The Brand Project) เน้นแปรรูปสร้างมูลค่าและพัฒนาแบรนด์
11) การพัฒนาเชิงพื้นที่ (Area base) ไม่มีเหลื่อมล้ำ
12) เปิดกว้างสร้างหุ้นส่วน (Partnership platform) ในประเทศและต่างประเทศ”

นายอลงกรณ์ได้ย้ำให้เดินหน้าพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนระดับตำบลและชุมชนเมืองเป็นโครงการใหม่เสมือนคานงัดการปฏิรูปภาคเกษตรของกระทรวงเกษตรฯ ภายใต้แนวคิด “บริหารโดยชุมชน เป็นของชุมชน และเพื่อชุมชน” โดยมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนทุกตำบลของนครปฐมและทุกจังหวัดแล้ว ซึ่งจะเป็นกลไกพัฒนาหมู่บ้านตำบลแบบบูรณาการทุกภาคส่วน ควบคู่กับการเดินหน้าโครงการเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมระบบเกษตรกรรมยั่งยืนในรูปแบบต่าง ๆ เช่น เกษตรอินทรีย์ เกษตรทฤษฎีใหม่ วนเกษตร เกษตรธรรมชาติ เกษตรผสมผสาน เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวและพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนครอบคลุม 76จังหวัดและกรุงเทพมหานคร

จากนั้นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ลงพื้นที่ตรวจติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานแปลงใหญ่ข้าวและการบริหารจัดการศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) โดยมี ว่าที่ร้อยโทอรรถชล ทรัพย์ทวี นายอำเภอกำแพงแสน เจ้าหน้าที่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านและนายสมคิด เปี่ยมคล้า ทีมงานที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรรวมถึงเกษตรกร ให้การต้อนรับ ณ หมู่1 ตำบลทุ่งขวาง อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ซึ่งแปลงใหญ่ดังกล่าว สามารถลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิต จากเดิม 800 กิโลกรัม/ไร่ เพิ่มเป็น 1,000 กิโลกรัม/ไร่ มีการพัฒนาคุณภาพ โดยสมาชิกผู้ปลูกข้าวแปลงใหญ่ทั้งหมด อยู่ระหว่างการขอการรับรองมาตรฐานการผลิตข้าว GAP แบบกลุ่ม ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการเตรียมความพร้อมเพื่อขอการรับรอง เป้าหมายเกษตรกรแปลงใหญ่ได้รับใบรับรอง GAP ทั้งหมด 32 ราย หรือ 100% รวมถึงมีการสร้างเครือข่ายด้านการตลาด และจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น facebook ฯลฯ

ปัจจุบันกลุ่มแปลงใหญ่ฯ ผลิตข้าวพันธุ์ปทุมธานี 1 มีสมาชิก จำนวน 32 ราย และมีพื้นที่ จำนวน 425 ไร่ เดิมสมาชิกต่างคนต่างขายโดยตรงให้กับโรงสี เมื่อรวมกลุ่มแปลงใหญ่ได้มีการพัฒนาแปรรูปผลผลิตเป็นข้าวสาร โดยกลุ่มมีโรงสีขนาดเล็กสำหรับแปรรูปผลผลิตของสมาชิก ผลิตภัณฑ์ที่ได้เป็นข้าวสารแบ่งบรรจุขนาด 1 กิโลกรัม และ 5 กิโลกรัม จำหน่ายตลาดในชุมชน ออกบูทตามงานต่าง ๆ ตลาดนัดศิลปากร ตลาดเกษตรกร และช่องทางออนไลน์ เป็นต้น ทั้งนี้ กลุ่มแปลงใหญ่ฯ ได้ร่วมกันจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ตำบลทุ่งขวาง และได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ด้วย.

Loading