นักศึกษาวิศวะฯสิ่งแวดล้อม และการจัดการภัยพิบัติ ม.มหิดล เปิดเผยผลศึกษาข้อมูลต้นเหตุ ละอองฝุ่น “มองจากฟ้า หาต้นตอฝุ่นในช่วงวิกฤติหมอกควัน ”

นักศึกษาวิศวะฯสิ่งแวดล้อม และการจัดการภัยพิบัติ ม.มหิดล เปิดเผยผลศึกษาข้อมูลต้นเหตุ ละอองฝุ่น “มองจากฟ้า หาต้นตอฝุ่นในช่วงวิกฤติหมอกควัน ”

วันที่ 21 ธันวาคม 2565 ผู้สื่อข่าว ได้รับการเปิดเผยจาก นางสาวพัชราภรณ์ ลักษณะเบี้ย และนางสาวเมย์ลภัส เขียวดีธนานนท์ นักศึกษาสาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและการจัดการภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ว่า ได้มีการรวบรวมและวิเคราะห์ผลการศึกษาข้อมูล จาก เหตุการณ์วิกฤติหมอกควันในอดีต และศึกษาแหล่งที่มาของละอองฝุ่น โดย ผลการศึกษาดังกล่าวได้รับการแนะนำและควบคุมคุณภาพโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอริกา พฤฒิกิตติ อาจารย์ประจำหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและการจัดการภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี

นางสาวพัชราภรณ์ ลักษณะเบี้ย และนางสาวเมย์ลภัส เขียวดีธนานนท์ กล่าวว่า “เป็นที่รู้กันว่า ปัญหาวิกฤติหมอกควันมักจะมาเยี่ยมเยือนจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดกรุงเทพมหานคร และหลายจังหวัดในประเทศไทย ของเราอย่างสม่ำเสมอในช่วงฤดูแล้ง จนหลายครั้งทั้งสองพื้นที่นี้ถูกจัดอันดับเป็นเมืองที่มีคุณภาพอากาศเลวร้ายที่สุดในโลก นั่นไม่ใช่สิ่งที่คนไทยภาคภูมืใจ กรมควบคุมมลพิษฯ ติดตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศในหลายจุดในเมืองใหญ่ ๆ ทั่วประเทศ เพื่อช่วยรายงานสถานการณ์ความรุนแรงของปัญหาวิกฤติหมอกควันให้ประชาชนทราบเพื่อรับมืออย่างทันท่วงที แต่ความสามารถในการระบุแหล่งที่มาของละอองฝุ่นเหล่านี้ยังจำกัดอยู่”

เพื่อให้การแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ นางสาวพัชราภรณ์ ลักษณะเบี้ย และนางสาวเมย์ลภัส เขียวดีธนานนท์ นักศึกษาสาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและการจัดการภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี รวบรวมเหตุการณ์วิกฤติหมอกควันในอดีต และศึกษาแหล่งที่มาของละอองฝุ่นเหล่านั้นผ่านข้อมูลละอองลอยจากดาวเทียม The Cloud-Aerosol Lidar and Infrared Pathfinder Satellite Observation (CALIPSO, www-calipso.larc.nasa.gov) เพื่อบ่งชี้ประเภทละอองฝุ่น ร่วมกับการวิเคราะห์เส้นทางย้อนกลับ (Backward Trajectory Analysis) โดยใช้แบบจำลอง Hybrid Single Particle Lagrangian Integrated Trajectory Model (HYSPLIT, https://ready.arl.noaa.gov/HYSPLIT.php) ของหน่วยงาน US NOAA

ผลการวิเคราะห์พบว่ากรุงเทพมหานครในช่วงระดับฝุ่นต่ำส่วนใหญ่จะพบฝุ่นประเภท ฝุ่นปนเปื้อนจากกิจกรรมมนุษย์ (Polluted dust) ส่วนในช่วงระดับฝุ่นสูงจะพบชนิดฝุ่นประเภท ฝุ่นปนเปื้อนจากกิจกรรมมนุษย์ (Polluted dust) เเละควันจากการเผาไหม้ชีวมวลในระดับสูงจากผิวดิน (Elevated smoke) ร่วมด้วย ในกรณีเชียงใหม่ในช่วงระดับฝุ่นสูง จะพบฝุ่นประเภทฝุ่นปนเปื้อนจากกิจกรรมมนุษย์ (Polluted dust) เป็นส่วนใหญ่ ในช่วงระดับฝุ่นต่ำ จะพบฝุ่นประเภทละอองผสมทั้งจากฝุ่นจากกิจกรรมมนุษย์และควันจากเผาไหม้ชีวมวล (Polluted continental/smoke) และฝุ่นดิน (Dust)

นอกจากนี้ เส้นทางเดินย้อนกลับของมวลอากาศแสดงให้เห็นว่า ในช่วงระดับฝุ่นต่ำ มวลอากาศมักจะมีทิศทางลมมากจากรอบทิศทางครอบคลุมบริเวณไม่กว้างนัก ทำให้บ่งชี้ว่าฝุ่นในช่วงนี้มาจากกิจกรรมมนุษย์ในพื้นที่ ในขณะที่ช่วงระดับฝุ่นสูง ลมจะมีทิศทางข้ามพรมแดนมาจากทะเลหรือประเทศเพื่อนบ้านชัดเจน จึงสามารถสรุปได้ว่า ในช่วงวิกฤติหมอกควัน ละอองฝุ่นข้ามพรมแดนจากประเทศเพื่อนบ้านมีส่วนสำคัญต่อปริมาณฝุ่นที่สูงขึ้น โดยพัดพาฝุ่นจำพวก ฝุ่นที่ปนเปื้อนจากกิจกรรมมนุษย์ (Polluted dust) ในกรณีจังหวัดกรุงเทพฯ และเชียงใหม่ และควันจากการเผาไหม้ชีวมวล (elevated smoke) ในกรณีจังหวัดกรุงเทพฯ (ดังภาพตัวอย่าง ) โดยข้อมูลที่นักศึกษาดำเนินการจัดทำ เป็นข้อมูลที่ผ่านกระบวนการวิเคราะห์ เพื่อให้ประชาชนและนักศึกษาทราบถึง สาเหตุการเกิดของฝุ่นละออง เพื่อเกิดความเข้าใจและอาจจะเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมมือร่วมใจ ป้องกันปัญหาเหล่านี้ได้ต่อไป ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ยังมีโครงการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้การจัดการฝุ่นละอองในหลากหลายประเด็น หากประชาชนท่านใดต้องการปรึกษาข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอริกา พฤฒิกิตติ Email arika.bri@mahidol.edu” สาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและการจัดการภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ในวันและเวลาราชการ ที่เบอร์โทรศัพท์ 034 585058

Loading