วันอาทิตย์, 19 มกราคม 2568

ยิ่งใหญ่อลังการ! พิธีอัญเชิญพระพุทธธรรมจักรมงคลคีรีขันธ์ประทานโชคลาภ องค์ที่ 131 ขึ้นประดิษฐาน ณ วัดคลองวาฬ

ยิ่งใหญ่อลังการ! พิธีอัญเชิญพระพุทธธรรมจักรมงคลคีรีขันธ์ประทานโชคลาภ องค์ที่ 131 ขึ้นประดิษฐาน ณ วัดคลองวาฬ พระอารามหลวง พุทธศาสนิกชนไทย-เมียนมา เข้าร่วมพิธีจำนวนมาก

เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 12 มี.ค.66 ดร.เสถียร เจริญเหรียญ ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นประธานในพิธีถวายพระพุทธธรรมจักรมงคลคีรีขันธ์ประทานโชคลาภ และบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ในพิธีอัญเชิญพระพุทธธรรมจักร องค์ที่ 131 ขึ้นประดิษฐานบนแท่นประทับ ณ วัดคลองวาฬ พระรามหลวง ตำบลคลองวาฬ อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยมีพระเทพสิทธิวิมล เจ้าอาวาสวัดคลองวาฬ เจ้าคณะภาค 15 เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ มีนาวาอากาศเอก สิทธิรัตน์ พู่ทรงชัย ผู้บังคับการกองบิน 5 พร้อมด้วยนายอำเภอ ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ พระเถระผู้ใหญ่วัดในจังหวัดต่างๆ รวมไปถึงพุทธศาสนิกชนชาวไทยและชาวเมียนมาร์ เข้าร่วมพิธีจำนวนมาก

โดยในช่วงเช้าได้จัดให้มีขบวนแห่อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ และพระพุทธธรรมจักรองค์ที่ 131 พร้อมด้วยพระสาวก พระปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 จากบริเวณหน้าลานอนุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ ไปตามถนนหมู่บ้านผ่านชุมชนตำบลคลองวาฬ มุ่งหน้าสู่วัดคลองวาฬ พระอารามหลวง เพื่อให้ชาวบ้านที่เลื่อมใสศรัทธาในหมู่บ้านได้ร่วมบุญ โดยได้มีการประกอบพิธีทางพราหมณ์และทางสงฆ์ เพื่อบูชาพระบรมสารีริกธาตุ ทั้ง 19 พาน พร้อมกับประกอบพิธีอัญเชิญพระพุทธธรรมจักรมงคลคีรีขันธ์ประทานโชคลาภ องค์ที่ 131 พร้อมพระปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ขึ้นประดิษฐานยังแท่นประทับ บนแท่นพระเจดีย์ภายในวัดคลองวาฬ ตามลำดับพิธี

วัดคลองวาฬเป็นพระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดสามัญ ตั้งเมื่อ พ.ศ.2466 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ.2542 วัดคลองวาฬ เริ่มสร้างในสมัยใดไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าสร้างมาก่อนที่จะเป็นเมืองคลองวาฬ เดิมทีวัดคลองวาฬไม่ได้ตั้งอยู่ในสถานที่ปัจจุบันนี้ แต่ได้ย้ายสถานที่ถึง 3 ครั้ง 3 แห่ง ก่อนที่จะมาตั้งอยู่ในที่ปัจจุบัน การหาหลักฐานที่แน่ชัดไม่ได้ ก็คงเพราะเมืองคลองวาฬสมัยก่อนเป็นเมืองหน้าด่านที่ต้องรับศึกพม่าโดยตลอดทำให้การที่จะสร้างวัดให้มั่นคงถาวรนั้นเป็นไปได้ยาก

ทั้งนี้ ธรรมจักร หรือ กงล้อแห่งธรรม เป็นสัญลักษณ์ที่ใช้แพร่หลายในศาสนาอินเดีย เช่น ศาสนาฮินดู, ไชนะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในศาสนาพุทธ ธรรมจักรปรากฏใช้ทั่วไปเพื่อสื่อถึงธรรมของพระพุทธเจ้า, บ้างใช้เป็นสัญลักษณ์แทนพระโคตมพุทธเจ้า และใช้แทนหนทางสู่การตรัสรู้ ปรากฏใช้เช่นนี้นับตั้งแต่ศาสนาพุทธในยุคแรกๆ

 

Loading