วันเสาร์, 18 มกราคม 2568

ปลัด มท. ชูงานผ้าไทยใส่ให้สนุก ร้อยหลาก พรรณราย ผ้าไทยนครพนม คือจุดกำเนิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวไร่ชาวนาในยุคปัจจุบัน

ปลัด มท. ชูงานผ้าไทยใส่ให้สนุก ร้อยหลาก พรรณราย ผ้าไทยนครพนม คือจุดกำเนิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวไร่ชาวนาในยุคปัจจุบัน

วันที่ 10 พฤษภาคม 2566 ที่ศาลาประชาคมยงใจยุทธ ศาลากลางจังหวัดนครพนม นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เป็นประธานเปิดงานผ้าไทยใส่ให้สนุก ร้อยหลาก พรรณราย ผ้าไทยนครพนม ที่จังหวัดนครพนมได้บูรณาการภาคส่วนต่าง ๆ จัดขึ้นเพื่อประชาสัมพันธ์ด้วยการเดินแบบแฟชั่นโชว์ 7 เช็ต 76 คู่ ด้วยชุดที่หลากหลายสไตล์จากการออกแบบให้มีความทันสมัยแต่ลงตัว กระตุ้นให้ทุกคนได้เห็นว่าผ้าไทยสามารถสวมใส่ได้ในทุกโอกาส ทุกวาระ และทุกเพศทุกวัย โดยมีนายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นางจิณณารัชช์ สัมพันธรัตน์ อุปนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทยและประธานแม่บ้านพัฒนาชุมชน นายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม นางสงวน จันทร์พร ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดนครพนม นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย ตลอดจนคณะหัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่ กลุ่มผู้ประกอบการ กลุ่มผู้ทอผ้า และประชาชนทั่วไปร่วมกิจกรรม
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า

 

งานผ้าไทยใส่ให้สนุก ร้อยหลาก พรรณราย ผ้าไทยนครพนม เป็นงานที่สำคัญยิ่ง ด้วยพระราชปณิธานและพระประสงค์อันแรงกล้าของเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน นับเรื่องมาจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จนถึงสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เป้าหมายอยู่ที่พี่น้องคนไทยทั้งมวล ทรงอยากเห็นคนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดี ดังนั้นทุกคนที่มาร่วมงานในวันนี้รวมถึงคนที่อยู่ทางบ้านที่มีหัวใจเห็นคุณค่าความสำคัญของผ้าไทย และงานหัตถกรรมไทย ขอจงได้โปรดภาคภูมิใจว่าท่านได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิต คือการช่วยเหลือชาวไร่ชาวนาที่อาศัยเวลาว่างในการทำผ้าทุกประเภท ทำงานหัตถกรรมทุกชนิด ให้มีรายได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีเพิ่มขึ้น สนองแนวพระราชดำริของทุกพระองค์ ขอจงภาคภูมิใจว่าท่านได้ช่วยสร้างความมั่นคงด้านเครื่องนุ่งห่มแก่ประเทศชาติ ซึ่งเป็น 1 ในปัจจัย 4 ที่มวลมนุษยชาติถือว่ามีความสำคัญและขาดไม่ได้ เพราะตัวคนเราไม่สามารถปกป้องอุณหภูมิที่หนาวเย็น หรือแดดอันแรงกล้าได้ด้วยผิวหนัง การที่ทุกคนได้อุดหนุนสวมใส่ผ้าไทย เป็นการทำให้ภูมิปัญญาผ้าไทยยังคงอยู่กับลูกหลานตราบนานเท่านาน เพราะได้ช่วยทำให้คนที่มีภูมิปัญญาผ้าไทยรุ่นใหม่ ๆ เกิดขึ้นเนื่องจากเห็นว่าเป็นอาชีพที่มีรายได้

ทั้งมีนัยสำคัญตรงกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ได้ให้ทุกคนตระหนักและพึ่งพาตนเอง เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่าในอนาคตข้างหน้าจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น เหมือนเช่นการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดที่ผ่านมา แต่ถ้าเรามีเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มวันนี้ก็เป็นหนึ่งในการเตรียมความพร้อมของการพึ่งพาตนเอง ซึ่งต้องขอขอบคุณนายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมและคณะ ที่ได้จัดกิจกรรมดี ๆ นี้ขึ้นมา เพื่อกระตุ้นให้ชาวจังหวัดนครพนมได้เป็นผู้นำเหมือนเช่นในปี 2513 จวบจนปัจจุบัน ที่จังหวัดนครพนมคือผู้นำของการนำเอาภูมิปัญญาผ้าไทยมาเป็นจุดกำเนิดในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและกลายเป็นมูลนิธิส่งเสริมศูนย์ศิลปาชีพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง แห่งที่หนึ่งที่เกิดขึ้นบริเวณข้างวัดพระธาตุประสิทธิ์ อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม จนปัจจุบันมีศูนย์ศิลปาชีพกระจายอยู่ทั่วประเทศ และมั่นใจว่ากิจกรรมในวันนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการที่จะทำให้คนรุ่นปัจจุบันและคนที่เป็นเยาวชนรุ่นใหม่ ๆ ได้ตระหนักและให้ความสำคัญกับภูมิปัญญาผ้าไทย ได้ช่วยกันพัฒนาต่อยอดผ้าไทยตาม โครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก ซึ่งมีนัยสำคัญที่ทำให้ทุกคนได้ขบคิด ประยุกต์ ดัดแปลง ได้ช่วยกันพัฒนาต่อยอดผ้าไทย ทั้งเรื่องของแบบลวดลาย สีสัน ตลอดจนถึงการตัดเย็บให้มีความเหมาะสมกับรสนิยมและความต้องการของพี่น้องประชาชนทุกเพศทุกวัย ที่สามารถนำมาสวมใส่ได้ในทุกโอกาส โดยสุดท้ายนี้ขอให้งานนี้ประสบความสำเร็จ เป็นจุดเริ่มต้นของผ้าไทยนครพนม ที่มีความมั่นคงแข็งแรง เกิดการพัฒนาต่อยอดในรูปแบบที่หลากหลาย และก่อให้เกิดรายได้หมุนเวียนในจังหวัดนครพนมเป็นจำนวนมาก ๆ

“เพลิงพระกาฬ”& “เทพข่าวร้อน”
จังหวัดนครพนม รายงาน

Loading