วันจันทร์, 13 มกราคม 2568

เตือนการระบาดศัตรูพืช โรคไหม้ข้าว สาเหตุเกิดจาก เชื้อราPyricularia oryzae Cavara

ข่าวเตือนการระบาดศัตรูพืช : โรคไหม้ข้าว สาเหตุเกิดจาก เชื้อราPyricularia oryzae Cavara

พบระบาดมากในนาน้ำฝน และในช่วงนี้หลายพื้นที่มีฝนตกอย่างต่อเนื่อง กลางคืนมีความชื้นสูง กลางวันอากาศร้อน ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่เหมาะต่อการระบาดของโรคไหม้ข้าว โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เกษตรกรปลูกข้าวหนาแน่น ทำให้อับลม ระวังการระบาดของโรคไหม้ข้าว ดังนั้น เกษตรกรควรหมั่นสำรวจแปลงนาอย่างสม่ำเสมอ

อาการพบได้ที่ใบ ข้อต่อของใบ และข้อต่อของลำต้น ขนาดแผลจะใหญ่กว่าที่พบในระยะกล้าแผลลุกลามติดต่อกันได้ที่บริเวณข้อต่อ ใบจะมีลักษณะแผลช้ำสีน้ำตาลดำ และมักหลุดจากกาบใบ (โรคไหม้คอรวง) ถ้าข้าวเพิ่งจะเริ่มให้รวงเมื่อถูกเชื้อราเข้าทำลาย เมล็ดจะลีบ แต่ถ้าเป็นโรคช่วงรวงข้าวแก่ใกล้เก็บเกี่ยว จะปรากฏรอยแผลช้ำสีน้ำตาลที่บริเวณคอรวง ทำให้เปราะหักง่าย รวงข้าวร่วงหล่น

วิธีการป้องกันและกำจัด ดังนี้

1. สำรวจแปลงนา อย่างสม่ำเสมอถ้าพบอาการของโรคไหม้ข้าวควรปฏิบัติ ดังนี้

        – พ่นเชื้อบีเอส (บาซิลลัส ซับทีลิส) อัตราตามคำแนะนำในฉลาก

        – พ่นเชื้อไตรโครเดอร์มา อัตรา 1 กิโลกรัม ต่อน้ำ 200 ลิตร

2. ถ้ามีความจำเป็นให้ใช้สารเคมีพ่นเฉพาะบริเวณที่พบการระบาดเพื่อควบคุมไม่ให้เชื้อราแพร่กระจายขยายเป็นวงกว้าง สารเคมีที่แนะนำมี ดังนี้

        – อิดิเฟนฟอส 50 % อีซี อัตรา 20-25 ซีซี ผสมน้ำ 20 ลิตร

        – บลาสติซิดิน -เอส 2 % อีซี อัตรา 20-25 ซีซี ผสมน้ำ 20 ลิตร

        – ไตรไซคลาโซล 75 % ดับบลิวพี อัตรา 10-16 กรัม ผสมน้ำ 20 ลิตร

ในฤดูถัดไป

1. ใช้พันธุ์ต้านทานต่อโรคไหม้ เช่น พันธุ์กข5 กข11 กข27 กข33 (หอมอุบล80) กข37 กข41 กข43    กข47 ชัยนาท1 สันป่าตอง1 สุพรรณบุรี1 สุพรรณบุรี2 สุพรรณบุรี3 สุพรรณบุรี60 สุพรรณบุรี90 คลองหลวง1 ปทุมธานี1 หรือ พันธุ์พิษณุโลก60-2

2. ใช้เชื้อไตรโครเดอร์ม่า อัตรา 1 กิโลกรัม ต่อน้ำ 200 ลิตร แช่เมล็ดพันธุ์ข้าว 1 คืน หรือคลุกเมล็ดพันธุ์ด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น ไตรไซคลาโซล คาซูกาไมซิน คาร์เบนดาซิม โพรคลอราซ อัตราตามคำแนะนำในฉลาก

    3. หว่านเมล็ดพันธุ์ในอัตราที่เหมาะสม 15-20 กิโลกรัมต่อไร่ ควรแบ่งแปลงให้มีการถ่ายเทอากาศได้ดี

4. ลดปริมาณการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนลง วิธีนี้อาจมีผลกระทบต่อผลผลิตบ้างแต่จะช่วยไม่ให้ข้าวอ่อนแอ     ต่อโรค

ข่าวเตือนการระบาดศัตรูพืช : โรคแส้ดำ ในอ้อย สาเหตุจากเชื้อราUstilago scitaminea

เป็นโรคที่พบการระบาดในอ้อยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะช่วงสภาพอากาศร้อนความชื้นต่ำ   โรคนี้ทำให้อ้อยแตกยอดออกมามีลักษณะคล้ายแส้มีผงสีดำของสปอร์เชื้อรา ทำให้ต้นอ้อยที่เป็นโรคแคระแกรน ข้อสั้น ใบเล็ก ถ้าเป็นรุนแรงอ้อยจะแห้งตายได้

การแพร่ระบาด

1. สปอร์ของเชื้อราติดไปกับท่อนพันธ์ุ จากกอที่เป็นโรค

    2. เชื้ออยู่ในดินและสามารถเข้าทำลายอ้อยที่ปลูกใหม่ได้

    3. เชื้อสามารถแพร่กระจายไปกับลม/ฝน

ลักษณะอาการ

อ้อยที่เป็นโรคแส้ดำ จะแตกยอดใหม่เป็นเส้นยาวสีดำแทนยอดปกติหรืองอกออกมาจากตาข้าง เกิดจากการสร้างสปอร์สีดำจำนวนมากรวมตัวกันแน่นอยู่ภายในเนื้อเยื่อผิวของใบยอดสุดที่ม้วนอยู่ ระยะแรกจะมีเยื่อหุ้มบางๆ สีเทา หุ้มแส้ดำเอาไว้และจะแตกออกเมื่อมีการสร้างสปอร์จำนวนมาก ส่งผลให้ต้นอ้อยแคระแกรน ลำผอมยาว ข้อสั้น ใบแคบเล็ก แตกกอจำนวนมาก เมื่ออาการรุนแรงอ้อยจะแห้งตาย

แนะนำแนวทางการป้องกันและกำจัด ดังนี้

    1. หมั่นสำรวจแปลงอ้อยอย่างสม่ำเสมอ หากพบอ้อยมีอาการแส้ดำให้รีบตัวส่วนที่เป็นโรคออกจากแปลง

และเผาทำลายทันที ระมัดระวังไม่ให้สปอร์ฟุ้งกระจาย

    2. เลือกใช้พันธ์ุต้านทาน เช่น พันธ์ุ LK92-11 อู่ทอง 1, อู่ทอง 2, อู่ทอง 3

    3. เลือกใช้ท่อนพันธ์ุที่สะอาด จากแหล่งที่ไม่มีการระบาดของโรคแส้ดำและเป็นแหล่งที่เชื่อถือได้ หรือแช่    ท่อนพันธุ์ในสารป้องกันกำจัดโรคพืชไตรอาไดมีฟอน 25% ดับบลิวพี อัตรา 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ โพรพิโคนาโซล 250 อีซี อัตรา 16 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร แช่นาน 30 นาทีก่อนปลูก

ข่าวเตือนการระบาดศัตรูพืช : เพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง

เตือนเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังเฝ้าระวังเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังทำความเสียหายโดยดูดกินน้ำเลี้ยงตามส่วนต่างๆ ของมันสำปะหลัง ส่งผลต่อการเจริญเติบโต การสังเคราะห์แสง คุณภาพท่อนพันธ์ุ ขนาดหัวมันสำปะหลัง และเปอร์เซ็นต์แป้ง ดังนั้น เกษตรกรจึงควรหมั่นสำรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ

การทำลายและลักษณะอาการ

          การเข้าทำลายต้นมันสำปะหลังของตัวอ่อนและตัวเต็มวัยของเพลี้ยแป้ง (Mealybugs) โดยการใช้ส่วนของปาก (stylet) ที่มีลักษณะเป็นท่อยาวดูดกินน้ำเลี้ยงตามส่วนต่าง เช่น ใบ ยอด ขณะเดียวกันเพลี้ยแป้งจะถ่ายมูลทำให้เกิดราดำบนต้นพืช พืชสังเคราะห์แสงได้น้อยลง เจริญเติบโตได้ไม่เติมที่ ลำต้นมีช่วงข้อถี่และบิดงอ ยอดแห้งตาย หรือยอดแตกพุ่ม มีผลกระทบต่อการสร้างหัว และหากระบาดในขณะพืชมีอายุน้อยหรือต้นมีขนาดเล็ก    อาจทำให้ต้นตายได้

แนะนำวิธีป้องกันกำจัดโดยวิธีผสมผสาน ดังนี้

1. ไถและพรวนดินหลาย ครั้ง เพื่อลดปริมาณของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังที่อยู่ในดิน

2. ใช้ท่อนพันธุ์ที่สะอาด ปราศจากโรคและแมลง

3. แช่ท่อนพันธุ์ด้วยสารกำจัดแมลง ไทอะมิโทแซม 25% WG อัตรา 4 กรัม ผสมน้ำ 20 ลิตร เป็นเวลา 5 – 10 นาที

4. ใช้ศัตรูธรรมชาติ ได้แก่ แมลงช้างปีกใส แตนเบียนอะนาไกลัส

5. หมั่นสำรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ หากพบการระบาดให้ตัดยอดหรือถอนต้น นำไปทำลายนอกแปลงและพ่นสารกำจัดแมลงบริเวณที่พบและบริเวณโดยรอบที่มีการระบาดทันที สารเคมีแนะนำ ได้แก่

                    – ไทอะมิโทแซม 25% WG อัตรา 4 กรัม หรือไดโนทีฟูแรน10% WP อัตรา 20 กรัม หรือโพรไทโอฟอส 50% EC อัตรา 50 มิลลิลิตรหรือ พิริมิฟอส เมทิล 50% อัตรา 50 มิลลิลิตร โดยเลือกสารชนิดใดชนิดหนึ่งผสมน้ำ 20 ลิตร

กลุ่มสารเคมีที่แนะนำควรนำมาใช้สลับกันในแต่ละช่วงอายุของเพลี้ยแป้ง ในช่วงอายุเดียวกันควรใช้สารกลุ่มเดียวกัน และสลับด้วยสารอีกกลุ่มเมื่อช่วงอายุต่อไป

Loading