วันอาทิตย์, 12 มกราคม 2568

สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครปฐม ร่วมกับวัดโคกเขมา จัดกิจกรรมเข้าวัดปฏิบัติธรรมวันธรรมสวนะ “ครอบครัวหิ้วตะกร้า ศรัทธาอิ่มบุญ อุดหนุนชุมชน”

​นครปฐม170766สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครปฐม ร่วมกับวัดโคกเขมา จัดกิจกรรมเข้าวัดปฏิบัติธรรมวันธรรมสวนะ “ครอบครัวหิ้วตะกร้า ศรัทธาอิ่มบุญ อุดหนุนชุมชน”

เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม ๒๕๖๖ เวลา ๐๗.๓๐ น. ที่วัดโคกเขมา ตำบลแหลมบัว อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐมจังหวัดนครปฐม โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครปฐม ร่วมกับวัดโคกเขมา จัดกิจกรรมเข้าวัดปฏิบัติธรรมวันธรรมสวนะ “ครอบครัวหิ้วตะกร้า ศรัทธาอิ่มบุญ อุดหนุนชุมชน” ปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๖ โดยมี พระครูโกวิทสุตการ (ระพิน) รองเจ้าคณะอำเภอนครชัยศรี เจ้าอาวาสวัดโคกเขมา เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นายสุรศักดิ์ เจริญศิริโชติ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม เป็นประธานฝ่ายฆราวาส พร้อมด้วย นางวราภรณ์ เจริญศิริโชติ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดนครปฐม นางฐิติรัตน์ เรืองสังข์ วัฒนธรรมจังหวัดนครปฐม นายอารุช เอมโอฐ นายอำเภอนครชัยศรี นายศราวุฒิ สุวรรณทัพ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดนครปฐม นางอารี งามศิริอุดม ธนารักษ์พื้นที่นครปฐม นางปรียาพร พาสนาวุฒิพงศ์ คลังจังหวัดนครปฐม นางถนอมพรรณ เลิศไกร ผู้อำนวยการสำนักงานยุติธรรมจังหวัดนครปฐม นางสาวศิริพร โรจนสุกาญจน พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดนครปฐม นายทรรศชล พุทธรัตนา พลังงานจังหวัดนครปฐม นางสาวศิริธร เลาหะวิไลย ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน ๑๖ นครปฐม นางสาวสุมณฑา มณเฑียร เกษตรและสหกรณ์จังหวัดนครปฐม นายธงชัย อินทพงษ์ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครปฐม นายพงศ์สุธี สุขศิริ พาณิชย์จังหวัดนครปฐม นางสาวยุพิน มูลจันทะ แรงงานจังหวัดนครปฐม นางสาวลักษณาวดี เนติเจียม หัวหน้าสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์นครปฐม นายอนุชิต พรแดง ผู้อำนวยการสถานีพัฒนาที่ดินนครปฐม นายสมชาย ชื่นชม ผู้จัดการการประปาส่วนภูมิภาคสาขานครปฐม และผู้แทนจากส่วนราชการจังหวัดนครปฐม หัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ตำบลแหลมบัว หน่วยงานภาคเอกชน คณะครูและนักเรียนโรงเรียนแหลมบัววิทยา ประชาชน เข้าร่วมกิจกรรมฯ

​การจัดกิจกรรมเข้าวัดปฏิบัติธรรมวันธรรมสวนะ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๖ สืบเนื่องจากกรมการศาสนากระทรวงวัฒนธรรม ได้เล็งเห็นถึงวิถีชีวิตดั้งเดิมของสังคมไทยในอดีตพุทธศาสนิกชนพากันไปวัดในวันธรรมสวนะเพื่อทำบุญ ตักบาตร ถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ สมาทานรักษาศีล สวดมนต์ไหว้พระ ฟังพระรรมเทศนา และเจริญจิตตภาวนา สังคมไทยจึงมีพระพุทธศาสนาเป็นหลักยึดเหนี่ยวจิตใจ เพราะศาสนาเป็นเรื่องของจิตใจ เป็นเรื่องของศีลธรรม คุณธรรม และจริยธรรม การเข้าร่วมกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาเป็นเรื่องที่พึงปฏิบัติและไม่ใช่เรื่องไกลตัวสำหรับพุทธศาสนิกชน จึงได้ขอความร่วมมือจังหวัดนครปฐมดำเนินการจัดกิจกรรมฯ ดังกล่าว
​วันธรรมสวนะ หรือวันพระเป็นวันกำหนดประชุมฟังธรรม เป็นประเพณีนิยมของพุทธบริษัทที่ได้ปฏิบัติ สืบต่อเนื่องกันมาแต่ครั้งพุทธกาล โดยถือว่าการฟังธรรมตามเวลาที่กำหนดไว้ ย่อมก่อให้เกิดสติปัญญาและเป็นสิริมงคลแก่ผู้ฟัง ในเรื่องกำหนดวันประชุมฟังธรรมนี้ พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ในแต่ละเดือน ได้แก่ วันขึ้น ๘ ค่ำ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ วันแรม ๘ ค่ำ และวันแรม ๑๕ ค่ำ (หากตรงกับเดือนขาดเป็นวันแรม ๑๔ ค่ำ) ทั้ง ๔ วันนี้ เป็นวันกำหนดประชุมฟังธรรมโดยปกติ และเป็นวันรักษาศีลอุโบสถสำหรับฆราวาส การทำบุญ

คือการทำความดีในทางพระพุทธศาสนามีหลักการสำคัญ ๓ ประการ คือ การละเว้นจากความชั่วทั้งปวง การทำความดีให้ถึงพร้อม และการทำจิตใจให้สะอาดผ่องใส ดังนั้น การทำบุญในวันธรรมสวนะ จึงสามารถทำความดีได้อย่างครบถ้วน คือ ได้สมาทานรักษาศีล ๕ หรือรักษาศีลอุโบสถ เป็นการละเว้นจากความชั่ว ได้ถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ เป็นการทำความดีด้วยการให้ทาน และได้สวดมนต์ไหว้พระฟังพระธรรมเทศนา นั่งสมาธิ เจริญจิตตภาวนา เป็นการทำจิตใจให้สะอาดผ่องใส และการทำบุญเป็นการสร้างเหตุปัจจัยแห่งความสุขกายสุขใจให้เกิดขึ้นแก่ตัวเองและผู้อื่น ผลที่ได้รับย่อมนำความสุขกายสุขใจมาให้แก่ตัวเองและผู้อื่น ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต

​จังหวัดนครปฐม โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครปฐม กระทรวงวัฒนธรรม มีความตระหนักว่าเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีแก่พุทธศาสนิกชนเป็นการเสริมสร้างศีลธรรม คุณธรรม และจริยธรรม เพื่อเป็นการขับเคลื่อนสังคมไทยให้เป็นสังคมคุณธรรมด้วยการบ่มเพาะปลุกจิตสำนึกศิลปวัฒนธรรมประเพณีของชาติ กระตุ้นเตือนให้พุทธศาสนิกชนยึดมั่น ในหลักธรรมของพระพุทธศาสนา และเพื่อเป็นการฟื้นฟูประเพณีการเข้าวัดปฏิบัติธรรมในวันธรรมสวนะให้กลับคืนสู่สังคมไทย จึงได้จัดกิจกรรมเข้าวัดปฏิบัติธรรมวันธรรมสวนะภายใต้แนวคิด “ครอบครัวหิ้วตะกร้า ศรัทธาอิ่มบุญ อุดหนุนชุมชน” ขึ้นเพื่อปลูกฝังและส่งเสริมพุทธศาสนิกชนในด้านคุณธรรม จริยธรรม การละเว้นจากความชั่วทั้งปวง การทำความดีให้ถึงพร้อม และการทำจิตใจให้สะอาดผ่องใส อีกทั้งสมาชิกในครอบครัวได้ใช้เวลาร่วมกันหิ้วตะกร้าเลือกซื้ออาหาร และผลิตภัณฑ์ ทางวัฒนธรรมของชุมชน เป็นการกระตุ้นระบบเศรษฐกิจกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น เกิดกระแสเงินหมุนเวียนและสภาพคล่อง ของชุมชนรอบวัดต่อไป

 

Loading