พิธีการจัดกิจกรรม เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวง ราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ในพิธีเจริญพระพุทธมนต์และเจริญจิตตภาวนา ถวายพระราชกุศล
เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2566 เวลา 16.30 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ลานหน้าองค์พระปฐมเจดีย์ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม นายสุรศักดิ์ เจริญศิริโชติ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม เป็นประธานในพิธีการจัดกิจกรรม เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวง ราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ในพิธีเจริญพระพุทธมนต์และเจริญจิตตภาวนา ถวายพระราชกุศล โดยมี นางวราภรณ์ เจริญศิริโชติ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดนครปฐม นายชยชัย แสงอินทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม นายยงยุทธ สวนทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม ว่าที่นายกองเอกพัฒนพงษ์ สร้อยอินทรากุล ปลัดจังหวัดนครปฐม นายศราวุฒิ สุวรรณทัพ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดนครปฐม หัวหน้าส่วนราชการจังหวัดนครปฐม ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ หน่วยงานภาคเอกชน ประชาชน เข้าร่วมพิธีเจริญพระพุทธมนต์และ เจริญจิตตภาวนา ถวายพระราชกุศล
จังหวัดนครปฐม จัดกิจกรรมเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัรราชธิดา 7 ธันวาคม 2566 เพื่อเป็นการแสดงความจงรักภักดีและสำนึกในพระกรุณาธิคุณ และเพื่อถวายพระราชกุศลให้ทรงหายจากพระอาการประชวร จังหวัดนครปฐม ได้กำหนดจัดกิจกรรมฯ ประกอบด้วย 1) พิธีเจริญพระพุทธมนต์และทำบุญตักบาตร 2) กิจกรรมจิตอาสาพัฒนาปรับภูมิทัศน์ 3) กิจกรรมปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ 4) พิธีไถ่ชีวิตโค กระบือ และ 5) พิธีเจริญ พระพุทธมนต์และเจริญจิตตภาวนา
พระราชประวัติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงเป็นพระราชธิดาพระองค์โต ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ทั้งทรงเป็นพระราชนัดดาพระองค์แรกใน พระบาทสมเด็จ พระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ประสูติเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2521 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต กรุงเทพ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ ทรงเริ่มศึกษาที่โรงเรียนราชินี ในระดับอนุบาลจนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากนั้นได้เสด็จไปทรงศึกษา ณ โรงเรียน Heathfield ในเมือง Ascot สหราชอาณาจักร ก่อนเสด็จกลับมาทรงศึกษาต่อชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 และ 6 ที่โรงเรียนจิตรลดา ในระดับอุดมศึกษา ทรงศึกษาในระดับปริญญาตรีในสองสาขา คือ ปริญญานิติศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยทรงสำเร็จการศึกษาด้วยคะแนนเกียรตินิยมอันดับสอง และปริญญารัฐศาสตรบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช โดยทรงสำเร็จการศึกษาด้วยคะแนนเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง ต่อจากนั้นพระองค์ได้เสด็จไปทรงศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยคอร์แนล เมืองอิทากา มลรัฐนิวยอร์ก ซึ่งเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยกลุ่ม Ivy League อันมีชื่องเสียงของประเทศสหรัฐอเมริกา โดยทรงใช้เวลาศึกษาในระดับปริญญามหาบัณฑิต สาขานิติศาสตร์ (LL.M.) เพียง 1 ปี จากนั้นทรงเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิต ด้านนิติศาสตร์ (J.S.D.) และทรงศึกษากฎหมายที่สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภาที่ประเทศไทยควบคู่กันไป ด้วยพระอัจฉริยภาพและความพากเพียร พระองค์ทรงสำเร็จการศึกษาทั้งดุษฎีบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยคอร์แนล ประเทศสหรัฐอเมริกา และทรงเป็นเนติบัณฑิตไทย พร้อมกันในปี 2548
จากนั้นทรงเข้ารับราชการในตำแหน่งอัยการผู้ช่วยสถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายอัยการ สำนักอัยการสูงสุด สู่รองอัยการจังหวัด และอัยการจังหวัด โดยระหว่างทรงปฏิบัติราชการด้วยพระวิริยะอุตสาหะ ได้ทรงริเริ่มโครงการกำลังใจ (Inspire) เมื่อปี 2550 ได้ให้ความช่วยเหลือผู้ต้องขังหญิง เด็กติดผู้ต้องขังหญิง และผู้ต้องขังที่ตั้งครรภ์ในเรือนจำ ทั้งในด้านวัสดุอุปกรณ์ การให้การฝึกอบรม การให้บริการทางการแพทย์ ตลอดจนการฟื้นฟูจิตใจ จนได้รับความสนใจจากนานาประเทศ ต่อมาทรงโอนย้ายมาดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำคณะกรรมาธิการแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชาญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา ณ กรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย ตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2555 สู่เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็ม ได้แก่ สาธารณรัฐออสเตรีย ประเทศสโลวะเกีย ประเทศสโลวีเนีย ก่อนทรงกลับมารับตำแหน่งอัยการจังหวัด สู่อัยการผู้เชี่ยวชาญ สำนักงานอัยการภาค 2 สำนักงานอัยการสูงสุด พระองค์ไม่เพียงบำเพ็ญประโยชน์ในพระราชกรณียกิจในหน้าที่ราชการเท่านั้น หากทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจด้านอื่น ๆ เพื่อความผาสุกของอาณาประชาราษฎร์ อาทิ ทรงเป็นประธานกรรมการมูลนิธีอาสา เพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย โดยสนับสนุนเชื่อมโยง ให้ภาครัฐและเอกชน มาร่วมกันเกื้อหนุนให้ประชาชนช่วยเหลือซึ่งกันและกันในยามทุกข์ยากจากภัยธรรมชาติ ที่รุนแรง และมูลนิธิ ณภาฯ ในพระดำริ ที่ช่วยเหลือและให้โอกาสทางอาชีพกลุ่มผู้ด้อยโอกาส อันเกิดจากผลที่ได้รับทางกฎหมายและด้านสังคม ด้วยพระปรีชาสามารถ และพระจริยวัตรอันงดงามส่งผลให้หลายองค์กร ต่างทูลเกล้า ฯ ถวายรางวัลต่าง ๆ เช่น กองทุนการพัฒนาเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ (UNIFEM) สำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทูลเกล้าฯ ถวายตำแหน่ง “ทูตสันถวไมตรี” (Goodwill Ambassador) ในการต่อต้านความรุนแรงต่อสตรีด้านหลักนิติธรรม ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และสำนักงานป้องกัน ยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ ได้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล Medal of Recognition ในฐานะที่ทรงมีบทบาทสำคัญในระดับนานาชาติ และเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้รับโอนข้าราชการฝ่ายอัยการเป็นข้าราชการในพระองค์ ฝ่ายทหารและพระราชทานพระยศทหาร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พลโทหญิง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา อัยการผู้เชี่ยวชาญ สำนักอัยการภาค 2 สำนักงานอัยการสูงสุด ทรงดำรงตำแหน่ง เสนาธิการกองบัญชาการ ทหารมหาดเล็ก ราชวัลลภรักษาพระองค์ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ (อัตรา พลเอก) และพระราชทานพระยศ เป็นพลเอกหญิง ซึ่งพระองค์ทรงปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มแข็ง และทรงสำเร็จหลักสูตรฝึกทางทหาร อาทิ หลักสูตรแทรกซึมทางอากาศเบื้องสูงทางยุทธวิธี เป็นการโดดร่มแบบโดดสูงและเปิดร่มสูง เป็นยุทธวิธีของการแทรกซึมเบื้องสูงของทางทหารเป็นการโดดนอกพื้นที่ของข้าศึก แต่ลงไปในพื้นที่ หรือหลังแนวของข้าศึก เพื่อปฏิบัติการทางยุทธวิธีภาคพื้นดิน เป็นหลักสูตรชั้นสูงสุดของหน่วยรบพิเศษ ทรงผ่านการฝึกฝนที่แสดง ให้เห็นว่าทรงสมเป็นนายทหารหญิงที่ทรงพระปรีชาสามารถ และทรงแข็งแกร่ง
เนื่องในโอกาสในวันคล้ายวันประสูติ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ในวันที่ 7 ธันวาคม 2566 ขอพระองค์ทรงพระเจริญ ทรงพระเกษมสำราญยิ่งยืนนาน และทรงหายจากพระอาการประชวร
นางสาวชนิดา พรหมผลิน /นครปฐม