เกษตรนครปฐม รวมตัว เร่งแก้ปัญหา เพลี้ยไฟและบั่วกล้วยไม้
เกษตรจังหวัดนครปฐม ร่วมกับ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครปฐม และภาคเอกชน ลงพื้นที่สวนกล้วยไม้ในอำเภอสามพราน ช่วยเกษตรกรแก้ปัญหา การระบาดของเพลี้ยไฟและบั่วกล้วยไม้
นางสาวธนนันท์ ศรีสุวะ เกษตรจังหวัดนครปฐม มอบหมายให้นายปริวัตร ไพรศรีจันทร์ ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้ากลุ่มอารักขาพืช เจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรจังหวัดนครปฐม เจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอสามพราน ร่วมกับ นายอดุลย์รัตน์ แคล้วคลาด นักวิชาการเกษตรปฏิบัติการ นางสาวเรณู อินทร์บุญ นักวิชาการเกษตร และผู้แทนภาคเอกชน ปฏิบัติงานเชิงบูรณาการ ลงพื้นที่ตรวจสอบแปลงกล้วยไม้ของเกษตรกร ตำบลคลองใหม่ อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม
หลังได้รับแจ้งปัญหาจากเกษตรกร พบการระบาดของเพลี้ยไฟ และบั่วกล้วยไม้ ส่งผลให้ช่อดอกของกล้วยไม้แห้ง มีร่องรอยสีขาว สีของกล้วยไม้ซีดจาง ดอกตูมชะงักการเจริญเติบโต บิดเบี้ยว หงิกงอ เน่าฉ่ำน้ำ และหลุดร่วง
ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ได้ทำความเข้าใจในเรื่องของการใช้สารเคมีกลุ่มต่างๆ อย่างถูกวิธี การใช้วิธีการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน (IPM) เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด และแนวทางการกำจัดศัตรูกล้วยไม้ตามหลักวิชาการ ดังนี้
1.ควรหมั่นตรวจแปลงกล้วยไม้ หากตรวจพบให้แยกกล้วยไม้ที่มีเพลี้ยไฟ ทำลายออกมา อย่าปล่อยให้อยู่ปะปนกับกล้วยไม้อื่นๆ
2. การใช้สารฆ่าแมลงในการป้องกันกำจัด กำจัดบั่วกล้วยไม้
สาร โปรฟีโนฟอส 50% EC (กลุ่ม1)อัตรา 60 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร (ไม่แนะนำให้ผสมกับสารตัวอื่น)
สาร อะซีทามิพริด 20% SP (กลุ่ม 4) อัตรา 20 กรัม/น้ำ 20 ลิตร
สาร อิมิดาโคลพริด 70% WG (กลุ่ม 4) อัตรา 5-8 กรัม/น้ำ 20 ลิตร
สาร อะบาเมกติน 1.8% EC (กลุ่ม6) อัตรา 40 มิลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร
3. การใช้สารเคมีที่มีประสิทธิภาพป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟกล้วยไม้
กลุ่ม 1 คาร์โบซัลแฟน 20%EC อัตรา 40-50 มิลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร
กลุ่ม 2 ฟิโพรนิล 5%SC อัตรา 30 มิลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร
กลุ่ม 5 สไปนีโทแรม 12%SC อัตรา 10 มิลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร
กลุ่ม 6 อีมาเม็กตินเบนโซเอท 1.92 %EC อัตรา 20 มิลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร
คำแนะนำสำหรับการพ่นสารเคมี
1. พ่นสารเคมีแบบสลับกลุ่ม พ่นกลุ่มละไม่เกิน 3 ครั้ง ทุกๆ 5 วัน
2. อัตราพ่นสารเคมีที่เหมาะสมตามคำแนะนำคือ ใช้น้ำ 120 ลิตรต่อไร่
3. พ่นให้ทั่ว เน้นที่บริเวณช่อ (ดอกตูมบาน) ซึ่งเป็นบริเวณที่อาศัยของเพลี้ยไฟ
4. คุณภาพน้ำที่เหมาะสมต่อการใช้ผสมสารเคมี pH 5-7