นครปฐม090467Young Smart Farmer นครปฐม โชว์ขุมทรัพย์ในดิน “กระชายเงินล้าน”
เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2567 นางสาวธนนันท์ ศรีสุวะ เกษตรจังหวัดนครปฐม มอบหมายให้ นางสาวพรทิพย์ นิลวิสุทธิ์ เกษตรอำเภอดอนตูม เจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรจังหวัดนครปฐม และเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอดอนตูม ลงพื้นที่จัดเก็บข้อมูล พร้อมเปิดเผยข้อมูลผลการดำเนินงานการสนับสนุนเกษตรกรผลิตพืชสมุนไพร “กระชาย” ของนายวราพงษ์ พรหมศรี เกษตรกรรุ่นใหม่ Young Smart Farmer จังหวัดนครปฐม ผู้ปลูกกระชาย ในพื้นที่ตำบลลำเหย อำเภอดอนตูม จังหวัดนครปฐม และได้เริ่มต้นรวมกลุ่มเกษตรกรตามระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ ในปี พ.ศ. 2567 ปัจจุบันมีเกษตรกรสมาชิก 32 ราย มีพื้นที่ปลูก 146 ไร่ นับเป็นการรวมตัวกันของเกษตรกรผู้ปลูกกระชาย เพื่อลดต้นทุนการผลิต เพิ่มรายได้ พัฒนาคุณภาพผลผลิต การบริหารจัดการ และการจัดการการตลาดของกลุ่ม ซึ่งกระชายเป็นสินค้าที่ตลาดมีความต้องการ
จากการติดตามการดำเนินงานของเกษตรกร พบว่า เกษตรกรในพื้นที่พบปัญหาโรคเน่าในกระชาย เมื่อมีการระบาดแล้ว จะลุกลามไปทั่วทั้งแปลง ส่งผลให้เกษตรกรได้ปริมาณผลผลิตต่ำ ผลผลิตที่ได้ไม่มีคุณภาพ นอกจากนี้กระชายยังใช้เวลายาวนานถึง 8 เดือน กว่าจะเก็บเกี่ยวผลผลได้ ทั้งนี้นายวราพงษ์ พรหมศรี เกษตรกรรุ่นใหม่ จึงมีแนวคิดที่จะปรับเปลี่ยนและแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยใช้องค์ความรู้ในการปรับปรุงบำรุงดินให้สมบูรณ์ การใช้สารชีวภัณฑ์บาซิลลัส ซับทิลิส (BS) ในการควบคุมโรคพืช ตั้งแต่กระบวนการแช่หัวพันธุ์ และการฉีดพ่นให้ชุ่มทั้งใบและกาบของต้นกระชายเป็นประจำทุกเดือน การทำปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพจากวัสดุที่มีในท้องถิ่นไว้ใช้เอง ลดการใช้สารเคมี และที่โดดเด่นคือ การทำการปลูกพืชแบบผสมผสานร่วมกับกระชาย ได้แก่ ผักชี พริก และเผือก บนแปลงกระชาย เพื่อให้ระยะเวลาก่อนจะเก็บเกี่ยวกระชายได้นั้น เกษตรกรมีรายได้จากผักชี ต่อด้วยพริก และเผือก ตามลำดับ นี่เป็นการแก้ไขปัญหา การขาดรายได้ในช่วง 8 เดือนของเกษตรกรได้เป็นอย่างดี บนพื้นที่ของนายวราพงษ์ พรหมศรี จำนวน 40 ไร่ ปลูกกระชายสายพันธุ์พวง ซึ่งมีลักษณะเด่น คือ จำนวนรากเยอะ มีลักษณะเป็นพวง รากตรง และอวบ ให้ผลผลิตสูง น้ำหนักดี และเป็นที่ต้องการของตลาด
สำหรับการผลิตกระชายของนายวราพงษ์ พรหมศรี พบว่า สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี แต่ฤดูการปลูกที่เหมาะสมอยู่ในช่วงต้นปี คือเดือนมกราคม เก็บเกี่ยวในช่วงเดือนสิงหาคม ซึ่งช่วงนี้จะต้องผ่านฤดูฝน มีโอกาสพบโรคเน่าได้มากกว่า และในช่วงปลายปีปลูกเดือนสิงหาคม เก็บเกี่ยวในช่วงเดือนเมษายน ผลผลิตเฉลี่ยที่ได้ประมาณ 4,000 กิโลกรัม/ไร่ ผลตอบแทนเฉลี่ย 140,000 บาท/ไร่ ราคาที่เกษตรกรขายได้ ณ วันที่ 9 เมษายน 2567 เฉลี่ย 35 บาท/กิโลกรัม
นายวราพงษ์ พรหมศรี ได้ปลูกกระชายจำนวน 40 ไร่ จึงไม่แปลกใจที่ได้รับฉายา “กระชาย เงินล้าน”