วันเสาร์, 23 พฤศจิกายน 2567

ชาวบ้านริมฝั่งแม่นำ้โก-ลก วอนนายกรัฐมนตรีทบทวนการสั่งปิดจุดผ่อนปรนริมฝั่งแม่นำ้

ชาวบ้านริมฝั่งแม่น้ำโก-ลก วอนนายกรัฐมนตรี ทบทวนการสั่งปิดจุดผ่อนปรนริมฝั่งแม่น้ำโก-ลก เพราะจะกระทบกับประชาชนเป็นวงกว้างจนทำให้อาจกลายเป็นเมืองร้าง สวนทางกับนโยบายอำเภอต้นแบบการค้าชายแดนระหว่างประเทศ สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

นายไพรัตน์ บินมามะ ประธานชุมชนโปฮงยามู เทศบาลเมืองสุไหงโก-ลกในนามกลุ่มประชาชนริมฝั่งแม่น้ำโก-ลก และนายสมโภช เจนพาณิชพงศ์ รองประธานหอการค้าจังหวัดนราธิวาส ยื่นหนังสือเปิดผนึกผ่านนางสุชาดา พันธ์นรา นายกเทศมนตรีเมืองสุไหงโก-ลก เพื่อส่งต่อให้นายภาณุ อุทัยรัตน์ เลขานุการผู้แทนพิเศษของรัฐบาล นำไปมอบให้กับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรียกร้องความเป็นธรรมเรื่องการยกเลิกคำสั่งปิดจุดผ่อนปรนริมฝั่งแม่น้ำโก-ลก หลังมีกระแสข่าวว่าฝ่ายความมั่นคง เตรียมปิดจุดผ่อนปรนริมฝั่งแม่น้ำโก-ลก เพื่อป้องกันภัยด้านความมั่นคง และเป็นการให้ความร่วมมือกับทางการประเทศมาเลเซียในการจำกัดพื้นที่การเข้าออกของกลุ่มไอเอส ที่อาจลักลอบเข้าออกมาก่อเหตุในพื้นที่ของทั้ง2ประเทศ

 


นายไพรัตน์ บินมามะ ประธานชุมชนโปฮงยามู เทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก ได้กล่าวถึงข้อเรียกร้องของประชาชนในพื้นที่ว่า หากมีการปิดจุดผ่อนปรนริมฝั่งแม่น้ำโก-ลกจริง พื้นที่ตลอดแนวริมฝั่งแม่น้ำโก-ลกที่มีประชาชนอาศัยอยู่จำนวน 8 ชุมชน กว่า 1 พันครัวเรือน จำนวนกว่า 5,000 คน กลุ่มมอเตอร์ไซด์รับจ้างอีกจำนวน 300 คน รวมทั้งผู้ประกอบการทั้งสถานบริการ ธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร และระบบเศรษฐกิจในพื้นที่อำเภอสุไหงโก-ลกทั้งหมดจะได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง และอาจทำให้อำเภอสุไหงโก-ลกที่รัฐบาลได้ประกาศนโยบายให้เป็นอำเภอต้นแบบการค้าชายแดนระหว่างประเทศ สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ต้องล้มทั้งเมือง ประชาชนจะไร้อาชีพ ประสบภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง และท้ายที่สุดประชาชนอาจจะโยกย้ายทิ้งถิ่นฐานออกจากพื้นที่เพราะทนกับการเป็นเมืองร้าง ของอำเภอสุไหงโก-ลกไม่ไหว จึงอยากให้ทบทวนเรื่องดังกล่าวและยกเลิกการปิดจุดผ่อนปรนริมฝั่งแม่น้ำโก-ลก ส่วนหากจะเปิดจุดผ่อนปรนที่ท่าประปาเพียงจุดเดียว ก็จะทำให้ประชาชนเกิดความรู้สึกว่าภาครัฐไม่จริงใจ และไม่ให้ความเป็นธรรมในการแก้ปัญหาในพื้นที่ เพราะเป็นผู้ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคม เปิดจุดเดียวทำให้ผู้ได้รับประโยชน์มีเพียงกลุ่มเล็กๆ แต่สร้างความเดือดร้อนอย่างใหญ่หลวงให้กับประชาชนอีกเป็นจำนวนมากเพราะท่าเรือริมฝั่งแม่น้ำโก-ลก บริหารจัดการโดยประชาชน แยกท่ากันชัดเจน หากท่านทำเช่นนี้ ประชาชนที่เหลือจะอยู่อย่างไร จะเอารายได้จากที่ไหนมาเลี้ยงครอบครัว และภาระค่าใช้จ่ายอื่นๆอีกมากมาย ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ
ทั้งนี้หากมองในด้านความมั่นคง ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กลุ่มผู้ให้บริการเรือข้ามฟาก และกลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง ได้รับหน้าที่เป็นตาสับปะรดในการช่วยงานเจ้าหน้าที่ตรวจตรา สอดส่อง และสังเกตบุคคลต้องสงสัย ที่อาจลักลอบเข้ามาในพื้นที่อยู่แล้ว เพราะหากเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบขึ้น ทุกคนก็จะได้รับผลกระทบ เนื่องจากกลุ่มนักท่องเที่ยวจะหายไปทั้งหมด

 

ภาพ/ข่าว ซาการียา ดอเลาะ

Loading