วันพฤหัสบดี, 21 พฤศจิกายน 2567

เกษตรนครปฐม ชู ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนบ้านคอกช้าง ผลงานเด่น ด้านจัดการศัตรูพืช

นครปฐม290767เกษตรนครปฐม ชู ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนบ้านคอกช้าง ผลงานเด่น ด้านจัดการศัตรูพืช

ที่จังหวัดนครปฐมผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.ธนนันท์ ศรีสุวะ เกษตรจังหวัดนครปฐม ผลักดันด้านอารักขาพืช ขับเคลื่อนงานผ่านกลไกศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน หรือ ศจช. จนมีผลงานโดดเด่น แก้ปัญหา และสร้างแนวทางการกำจัดข้าวดีดในนาข้าว พร้อมการคิดค้นนวัตกรรม “ก้านยาวรูดข้าวดีด”

เกษตรกรในศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนบ้านคอกช้าง อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ใช้วิธีการกำจัดข้าวดีด ในระยะข้าวเริ่มออกรวง ด้วยการใช้ไม้ยาวประมาณ 2 – 3 เมตร พันด้วยผ้าชุบสารเคมีแล้วเดินรูดรวงข้าวดีดในนา แต่การเดินรูดด้วยวิธีนี้มักมีปัญหาด้านแรงงานและการรูดข้าวดีดที่ไม่สม่ำเสมอ ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนบ้านคอกช้าง จึงได้คิดค้นนวัตกรรม “ก้านยาวรูดข้าวดีด” ขึ้นมาใช้ทดแทน ได้ผลแม่นยำ มีประสิทธิภาพในการกำจัดข้าววัชพืช (ข้าวดีด) ได้ถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ประหยัดเวลาไม่ทำให้ข้าวเกิดแผลเหมือนการตัดด้วยใบมีดซึ่งเป็นสาเหตุให้เชื้อโรคเข้าสู่ต้นข้าวได้
เกษตรกรสามารถทำใช้เองได้ ดังนี้
วัสดุ – อุปกรณ์
1. รางอะลูมิเนียมยาว 6 เมตร
2. ด้ายดิบยาว 6.5 เมตร
3. ลวดทองเหลือง ขนาด 0.2 มิลลิเมตร ยาว 3 เมตร
4. สายผ้าใบคล้องคอแบบปรับความยาวได้
5. สารกำจัดวัชพืชในนาข้าวชนิดดูดซึม เช่น สารกูลโฟซิเนต
วิธีทำ
1. นำลวดทองเหลืองมาตัดท่อนความยาว 20 เซนติเมตร ทำเป็นตะขอสำหรับเกี่ยวด้ายดิบ จำนวน 6 เส้น งอส่วนบนและส่วนล่าง
เป็นรูปตัวซี (ควรใช้ลวดทองเหลืองเพราะมีความทนทานต่อการกัดกร่อนของสารเคมี)
2. ใช้ตะขอทองเหลืองมาเกี่ยวกับรางอะลูมิเนียม ระยะห่างตะขอประมาณ 1 เมตร เพื่อใช้แขวนด้ายดิบ สังเกตให้ด้ายดิบไม่ให้ตกท้องช้าง
3. นำสายผ้าใบผูกตรงกลางของรางอะลูมิเนียมเพื่อใช้เป็นสายคล้องคอ เกี่ยวก้านยาวรูดข้าวดีด
วิธีนำไปใช้ประโยชน์
1. ช่วงเวลา สำหรับการใช้อุปกรณ์รูดข้าวดีดในช่วงระยะข้าวดีดเริ่มออกรวงถึงระยะน้ำนม
2. นำด้ายดิบชุบสารเคมีกำจัดวัชพืช กูลโฟซิเนตให้ชุ่มชื้นแต่ไม่ให้สารเคมีหยดเพราะจะโดนใบข้าวเสียหายได้
นำด้ายดิบแขวนไว้บนตะขอทองเหลืองที่ยึดติดไว้กับรางอะลูมิเนียม
3. นำก้านยาวรูดข้าวดีดแขวนบนบ่าไหล่ ปรับระดับสายให้ด้ายดิบพอดีกับรวงข้าวดีด ปักไม้ทำสัญลักษณ์ขอบเขตของการรูดข้าวดีด
แต่ละครั้ง (กันหลงแนวและไม่ทั่วถึง)
4. รูดข้าวดีด 1 – 2 ครั้ง ต่อรอบการเพาะปลูก หากยังพบข้าวดีดมีจำนวนมาก ให้รูดข้าวดีดครั้งที่ 2 ห่างกัน 2 สัปดาห์


 

 

Loading