เปิดโครงการอบรมพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (Cultural Product of Thailand : CPOT) เข้าสู่ตลาดดิจิทัล
เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2567 เวลา 09.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่านางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม มอบหมายให้นางโชติกา อัครกิจโสภากุล รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานเปิดโครงการอบรมพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (Cultural Product of Thailand : CPOT) เข้าสู่ตลาดดิจิทัล
โดยมีนางอลงกรณ์ จารุธีรนาท ผู้อำนวยการกองเศรษฐกิจวัฒนธรรม เป็นผู้กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ความเป็นมาของโครงการฯ พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ ผู้ประกอบการจากชุมชนคุณธรรมชุมชนต่าง ๆ เข้าร่วมพิธีเปิดฯ และเข้ารับการอบรมฯ ในโครงการดังกล่าว ณ ห้องแกลลอรี่ 2 – 3 ชั้น G หอศิลป์แห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ในการนี้ ได้ถ่ายทอดผ่านระบบประชุมทางไกล ออนไลน์ ทั่วประเทศด้วย
สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม โดยกองเศรษฐกิจวัฒนธรรม จัดโครงการอบรมพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (Cultural Product of Thailand : CPOT) เข้าสู่ตลาดดิจิทัล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย ให้มี ความพร้อมและศักยภาพในการเข้าสู่ตลาดดิจิทัล ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสอันดีที่จะช่วยผู้ประกอบการกระจายสินค้าไปสู่กลุ่มผู้บริโภคได้ง่ายมากยิ่งขึ้น และสามารถสร้างรายได้สู่ชุมชนอย่างยั่งยืน
สืบเนื่องจากรัฐบาลประกาศนโยบายและยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (2561 – 2580) เพื่อพัฒนาประเทศไทยสู่ประเทศที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ได้กำหนดการพัฒนาประเทศไทยไปสู่ประเทศไทย 4.0 ด้วยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วย “ปัญญา” สร้างความเข้มแข็งจากภายใน เชื่อมเศรษฐกิจไทยสู่โลก ด้วยความสมดุล โดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ ในการดำเนินชีวิต และผนึกกำลัง สานพลังประชารัฐ เน้นการพึ่งตนเอง และรวมกันเป็นกลุ่ม อย่างมีพลัง ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 เพื่อปรับเปลี่ยนบทบาทให้เป็นกระทรวงสังคมกึ่งเศรษฐกิจ มุ่งเน้นการพัฒนายกระดับผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (Cultural Product of Thailand : CPOT) สู่อุตสาหกรรม และขยายตลาดสินค้าและบริการ ทางวัฒนธรรมทั้งในและต่างประเทศ เพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ของกระทรวงวัฒนธรรมที่ว่า “วัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ มีบทบาทนำในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย”
กระทรวงวัฒนธรรม โดยกองเศรษฐกิจวัฒนธรรม ได้ดำเนินการขับเคลื่อนงานตามนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เจริญเติบโตแบบเศรษฐกิจใหม่ (New Engines of Growth) ที่ขับเคลื่อนด้วยองค์ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่เชื่อมโยงกับรากฐาน ทางวัฒนธรรมโดยการส่งเสริมการนำ “ทุนทางวัฒนธรรม” มาพัฒนาต่อยอดในเชิง “อุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์” และประชาสัมพันธ์อุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ สามารถต่อยอดความสำเร็จในการเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายทางโซเชียลมีเดีย หรือการทำการตลาดดิจิทัล ให้ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทยสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้มากขึ้น และสร้างรายได้แก่ชุมชนได้อย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับชุมชน ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย นำไปสู่การสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ อีกทั้งยังเป็นการช่วยกระตุ้นการอนุรักษ์ฟื้นฟูมรดกทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นสร้างความภาคภูมิใจให้กับคนในชาติ และสร้างภาพลักษณ์ที่ดี ของประเทศไทยให้เป็นที่ประจักษ์ในสายตาชาวโลกสืบไป
ชนิดา พรหมผลิน /นครปฐม