นครปฐม151167 วธ.จังหวัดนครปฐมส่งเสริมประเพณี “ลอยกระทง วิถีไทย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม” ประจำปี 2567 “คืนจันทร์เพ็ญงามอร่ามตา สืบสานรักษาคลองเจดีย์บูชา สายน้ำแห่งพระราชศรัทธาสู่ความยั่งยืน” “นครปฐมเมืองดนตรี สร้างสรรค์สุนทรียศาสตร์แห่งพระราชา”
เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2567 เวลา 16.30 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จังหวัดนครปฐม โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครปฐม กระทรวงวัฒนธรรม นำโดย นางฐิติรัตน์ เรืองสังข์ วัฒนธรรมจังหวัดนครปฐม จัดงานส่งเสริมประเพณี “ลอยกระทง วิถีไทย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม” ประจำปี 2567 “คืนจันทร์เพ็ญงามอร่ามตา สืบสานรักษาคลองเจดีย์บูชา สายน้ำแห่งพระราชศรัทธาสู่ความยั่งยืน” “นครปฐมเมืองดนตรี สร้างสรรค์สุนทรียศาสตร์แห่งพระราชา” ณ บริเวณหน้าวัดห้วยจระเข้ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครปฐม กระทรวงวัฒนธรรม ได้ตระหนักถึงความสำคัญของประเพณี ลอยกระทงของไทยที่บรรพบุรุษได้สั่งสม สร้างสรรค์ไว้ ให้มีการอนุรักษ์ สืบสานวัฒนธรรมอันงดงามนี้ไว้ให้คงอยู่อย่างยั่งยืนตลอดไป ประเพณีลอยกระทงปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ในคืนวันเพ็ญ เดือน 12 หรือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 อันเป็นวันพระจันทร์เต็มดวง และเป็นช่วงที่น้ำนองเต็มตลิ่ง โดยจะมีการนำดอกไม้ ธูป เทียน หรือสิ่งของใส่ลงในสิ่งประดิษฐ์รูปต่าง ๆ ที่ไม่จมน้ำ เช่น กระทงที่ทำจากใบตอง ในปัจจุบันได้นำใบไม้สวยงามต่าง ๆ มาประยุกต์ทำกระทงอีกด้วย แล้วนำไปลอยตามลำน้ำ โดยมีวัตถุประสงค์และความเชื่อต่าง ๆ กัน อาทิ เพื่อแสดงความขอบคุณพระแม่คงคา ซึ่งเป็นแหล่งน้ำให้มนุษย์ได้ใช้ประโยชน์ต่าง ๆ รวมทั้งขอขมาที่ได้ทิ้ง สิ่งปฏิกูลลงไป ส่วนบางท้องที่ จะทำเพื่อระลึกถึงบรรพบุรุษที่ล่วงลับ หรือเพื่อสะเดาะเคราะห์ ลอยทุกข์โศก โรคภัยต่าง ๆ และส่วนใหญ่จะอธิษฐานขอสิ่งที่ตนปรารถนาไปด้วย บางท้องถิ่นมีการใส่หมากพลู เงินเหรียญ หรือ ตัดเส้นผม ตัดเล็บมือเล็บเท้าใส่ในกระทง เพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์ ซึ่งเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นว่าคนไทยเรามีวัฒนธรรมที่ผูกพันกับสายน้ำอย่างมาก ด้วยเพราะน้ำถือเป็นสิ่งสำคัญในการหล่อเลี้ยงชีวิตมนุษย์ ทั้งใช้ในการอุปโภค บริโภคอยู่เป็นประจำในทุกวัน
สำหรับในวันนี้ได้นำโครงการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอาหารและวัฒนธรรม ที่เป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดนครปฐม กิจกรรม : การขับเคลื่อนเมืองนครปฐมเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของ UNESCO สาขาดนตรี มาบูรณาการงานร่วมกัน โดยกำหนดการจัดกิจกรรมมีดังนี้ วันที่ 15 พฤศจิกายน 2567 ณ วัดห้วยจระเข้ เวลา 18.00 น. – 20.00 น. การแสดงโปงลางและการแสดงทางวัฒนธรรม วันที่ 20 พฤศจิกายน 2567 ณ วัดสามง่าม อำเภอดอนตูม เวลา 18.00 น. – 20.00 น. วงดนตรีจากโรงเรียนสิรินธรราชวิทยาลัย วันที่ 23 พฤศจิกายน 2567 ณ วัดไร่ขิง อำเภอสามพราน เวลา 11.00 น. – 13.00 น. วงดนตรีจาก โรงเรียนวัดไร่ขิง (สุนทรอุทิศ) วันที่ 24 พฤศจิกายน 2567 ณ ถนนคนเดิน ริมคลองวัดพระงาม เวลา 18.00 น. – 20.00 น. วงดนตรีไทยสากล วันที่ 7 ธันวาคม 2567
ณ ถนนคนเดิน ริมคลองวัดพระงาม วงดนตรีจากโรงเรียนพระปฐมวิทยาลัย /ศิลปินไมค์ทองคำ วันที่ 14 ธันวาคม 2567 ณ สนามลี้คุนกี่ องค์พระฯ วงดนตรีจากโรงเรียนพระปฐมวิทยาลัย /ศิลปินไมค์ทองคำ และวันที่ 21 ธันวาคม 2567 ณ สนามลี้คุนกี่ องค์พระฯ วงดนตรีจากโรงเรียนพระปฐมวิทยาลัย /ศิลปินไมค์ทองคำ
นับเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งของชาวจังหวัดนครปฐมในเรื่องของดนตรีนั้น ที่มี “มหิดลสิทธาคาร” (Prince Mahidol Hall) เป็นสถานที่แสดงดนตรีที่เป็นความภาคภูมิใจของชาวจังหวัดนครปฐม ในระดับประเทศ ในฐานะที่มีความเป็นเลิศทางด้านคุณภาพ การสะท้อนเสียง (Acoustic) ที่ดีเยี่ยม ได้รับคำชื่นชมประทับใจด้วยดีเสมอมาจากวงดนตรีที่เป็นอาคันตุกะที่มาเยือนในโอกาสต่าง ๆ ซึ่งสถานที่แห่งนี้เปรียบเสมือนห้องรับแขกที่ได้ต้อนรับวงออร์เคสตราชั้นนำจากทั่วโลก อาทิ วงเบอร์ลินฟีลฮาร์โมนิก วงลอนดอนซิมโฟนีออร์เคสตรา วงบีบีซีซิมโฟนีออร์เคสตรา วงโตเกียวซิมโฟนีออร์เคสตรา เป็นต้น และจัดเทศกาลดนตรี กิจกรรมดนตรีในระดับชาติ และนานาชาติ มีศิลปินแห่งชาติในจังหวัดนครปฐม อาทิ ลำตัดคุณแม่ศรีนวล ขำอาจ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ศิลปะพื้นบ้าน – ลำตัด) และ คุณแม่ผ่องศรี วรนุช ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยลูกทุ่ง – ขับร้อง) เป็นต้น ดังนั้นเพื่อสนับสนุนการพัฒนาให้จังหวัดนครปฐมขับเคลื่อนก้าวสู่การเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชน (UNESCO) สาขาดนตรี และร่วมขับเคลื่อนแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2561 – 2580)
และในวันนี้จึงได้ร่วมบูรณาการงานสร้างสรรค์ และสร้างพลังเกี่ยวกับงานดนตรีเพื่อขับเคลื่อนงานร่วมกันอย่างมั่นคงและมีคุณค่า ส่งต่อประโยชน์ สู่ประชาชนในจังหวัดและภาพรวมของประเทศให้สืบสาน รักษา และต่อยอด เพื่อสร้างสรรค์ อนุรักษ์งานประเพณีวัฒนธรรมให้คงอยู่ ด้วยการบ่มเพาะและปลูกฝังหัวใจแห่งความเป็นไทยให้กับเด็กและเยาวชน ประชาชน คนไทยอย่างยั่งยืน และผลักดันให้จังหวัดนครปฐมเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) สาขาดนตรี ซึ่งจะนำ ไปสู่การท่องเที่ยวในด้านอาหาร , วัฒนธรรม และพัฒนาอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรม ความคิดแห่งการสร้างสรรค์ สู่การพัฒนาจังหวัดนครปฐมอย่างยั่งยืน และมั่นคงสืบต่อไป
ชนิดา พรหมผลิน /นครปฐม