วันอาทิตย์, 5 มกราคม 2568

ทำบุญตักบาตรรับปีใหม่ 2568 และพิธีบวงสรวงและพิธีสงฆ์ งานมหาธีรราชเจ้ารำลึก มหกรรมวัฒนธรรมจังหวัดนครปฐม ครั้งที่ 21 ประจำปี 2567

นครปฐม010168ทำบุญตักบาตรรับปีใหม่ 2568 และพิธีบวงสรวงและพิธีสงฆ์ งานมหาธีรราชเจ้ารำลึก มหกรรมวัฒนธรรมจังหวัดนครปฐม ครั้งที่ 21 ประจำปี 2567

 

เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2568 เวลา 06.30 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณองค์พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม ร่วมกับวัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครปฐม สภาวัฒนธรรมจังหวัดนครปฐม จัดพิธีทำบุญตักบาตรรับปีใหม่ 2568 และพิธีบวงสรวงและพิธีสงฆ์ งานมหาธีรราชเจ้ารำลึก มหกรรมวัฒนธรรมจังหวัดนครปฐม ครั้งที่ 21 ประจำปี 2567 โดยมีนางสาวอโรชา นันทมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม ประธาน ในพิธีฯ พร้อมด้วย นายยงยุทธ สวนทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม นายปรีชา ดิลกพรเมธี รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม นายอรรถวุฒิ พึ่งเนียม รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม นายสุนทร แก้วพิจิตร ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดนครปฐม นายพิชิต พาวิทยาลาภ นายเอี่ยม สมใจ รองประธานสภาวัฒนธรรม จังหวัดนครปฐม พันโท ดร.สินธพ แก้วพิจิตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครปฐม เขต 2 นางฐิติรัตน์ เรืองสังข์ วัฒนธรรมจังหวัดนครปฐม นางวรณัน สวนทอง นางศิริลักษณ์ พึ่งเนียม นางกัญจนา สร้อยอินทรากุล รองนายกเหล่ากาชาดจังหวัดนครปฐม นางสุภาพร ไหลธนานนท์ นางวันวิสา นิยมทรัพย์ กรรมการสภาวัฒนธรรมจังหวัดนครปฐม หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ ประชาชนเข้าร่วมพิธีในครั้งนี้

​จังหวัดนครปฐม จัดพิธีทำบุญตักบาตรรับปีใหม่ 2568 เพื่อความเป็นสิริมงคลในการเริ่มต้นศักราชใหม่ของชาวจังหวัดนครปฐม
​นางสาวอโรชา นันทมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม ประธานในพิธีฯ โดยเมื่อเดินทางมาถึง บริเวณงาน จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย จากนั้นพระธรรมวชิรเจติยาจารย์ ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 14 ผู้รักษาราชการแทนเจ้าอาวาสวัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร ประธานสงฆ์ให้ศีล และกล่าวอำนวยพรปีใหม่ ต่อจากนั้นประธานในพิธี กล่าวคำอำนวยพรปีใหม่ จบแล้วพระสงฆ์ สามเณรออกเดินรับบิณฑบาต ประธาน ในพิธีฯ ผู้บริหาร ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ ประชาชนร่วมกันตักบาตรรับความเป็นสิริมงคลในก้าวแรกของปี บรรยากาศเต็มไปด้วยความปิติ และความอิ่มเอมใจของประชาชนชาวจังหวัดนครปฐมเป็นอย่างยิ่ง

​จากนั้น เวลา 07.30 น. นางสาวอโรชา นันทมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม ประธานในพิธีบวงสรวงและพิธีสงฆ์ งานมหาธีรราชเจ้ารำลึก มหกรรมวัฒนธรรมจังหวัดนครปฐม ครั้งที่ 21 ประจำปี 2567 เดินทางมาถึงบริเวณพิธีบวงสรวง ณ บริเวณลานด้านข้างพระร่วงโรจนฤทธิ์ฯ องค์พระปฐมเจดีย์ เริ่มเข้าสู่พิธีฯ นายสุนทร แก้วพิจิตร ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดนครปฐม ประธานดำเนินงานจุดธูป จากนั้น ประธานในพิธีฯ จุดธูปเทียนเครื่องทองน้อย ถวายราชสักการะหน้าพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จุดเทียนชัย ต่อจากนั้น แขกผู้มีเกียรติจุดเทียนเครื่องบายศรี จำนวน 8 ราย และปักธูปตามเครื่องบวงสรวง และบัณฑิต อ่านคำบวงสรวง ประธานในพิธีฯ กล่าวคำส่งเทวดา และโปรยข้าวตอกดอกไม้ เสร็จพิธีฯ

​โดยมีพิธีสงฆ์ เวลา 08.30 น. นางสาวอโรชา นันทมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม ประธานในพิธีฯ ณ บริเวณศาลาโถง องค์พระปฐมเจดีย์ ประธานในพิธีฯ เพื่ออุทิศถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6

​ในการจัดพิธีบวงสรวงและพิธีสงฆ์ ในงานมหาธีรราชเจ้ารำลึก มหกรรมวัฒนธรรมจังหวัดนครปฐม ครั้งที่ 21 ประจำปี 2567 มีวัตถุประสงค์เพื่อเทิดพระเกียรติยศ และเผยแพร่พระเกียรติคุณพระบาทสมเด็จ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ที่พระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณแก่ปวงชนชาวไทยและจังหวัดนครปฐม อย่างอเนกอนันต์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 29 ในพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและเป็นพระองค์ที่ 2 ที่ประสูติแต่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ประสูติ วันเสาร์ที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2423 ตรงกับวันเสาร์ เดือนยี่ ขึ้น 2 ค่ำ ปีมะโรง โทศก จุลศักราช 1242 (ร.ศ.99) ทรงพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ มุสิกนาม ทรงมีพระเชษฐภคินีและพระอนุชา ร่วมพระชนนี 7 พระองค์
​พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเริ่มพระราชภารกิจในด้านการปกครองมาแต่ครั้งดำรง พระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ทรงรับพระราชภาระเป็นผู้สำเร็จราชการรักษา พระนคร ในระหว่างที่สมเด็จพระบรมชนกนาถมิได้ประทับในพระนครอยู่เนือง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรปครั้งที่ 2 ใน พ.ศ. 2450

​ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว นอกจากจะทรงดำเนินการปกครองตามแบบแผนที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงริเริ่มไว้แล้ว ยังได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดการปรับเปลี่ยนบางอย่างเพิ่มเติมเช่น การปรับเปลี่ยนระเบียบราชการบางส่วนในกระทรวงมหาดไทย กล่าวคือ ใน พ.ศ. 2458 โปรดเกล้าฯ ให้รวมหัวเมืองมณฑลที่ใกล้เคียงกันจัดเป็นภาค และทรงแยกหัวเมืองในมณฑลพายัพออกเป็น 2 มณฑล คือ มณฑลพายัพ มีเขตปกครองคือ จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน แม่ฮ่องสอน เชียงราย กับมณฑลมหาราษฎร์ มีเขตปกครองคือ จังหวัดแพร่ ลำปาง และน่าน แล้วโปรดให้เรียกรวมว่า “มณฑลพายัพ” และทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลขึ้นเป็นอุปราชมณฑลภาคพายัพ

 

 

​ต่อจากนั้นโปรดเกล้าฯ ให้รวมมณฑลนครไชยศรีและมณฑลราชบุรี จัดเป็น “มณฑลภาคตะวันตก” รวมมณฑลนครศรีธรรมราช มณฑลสุราษฎร์ธานี และมณฑลปัตตานี เป็น “มณฑลปักษ์ใต้” และรวมมณฑลอุดร มณฑลร้อยเอ็ด และมณฑลอุบล เป็น ภาคอีสาน ตามลำดับ ทั้งได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลขึ้นเป็นอุปราชมณฑลภาคนั้น ๆ ส่วนมณฑลกรุงเก่า (มณฑลอยุธยา) ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลขึ้นเป็นอุปราชมณฑลกรุงเก่า และยังโปรดเกล้าฯ ให้ออกประกาศกำหนดอำนาจและหน้าที่ของอุปราชไว้ในปีเดียวกันนี้ อีกทั้งพระองค์ยังทรงพระราชทานกำเนิดกิจการลูกเสือ ในประเทศไทย ทรงเห็นว่าหากเยาวชนของชาติได้รับการฝึกหัดให้มีวินัย เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ นอกจากจะมีระเบียบวินัยเป็นพลเมืองดีของชาติแล้วยังจะสามารถนำความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมาใช้เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติด้วย จึงทรงยกร่าง “ข้อบังคับลักษณะปกครองลูกเสือ” โปรดเกล้าฯ ให้ตราข้อบังคับไว้เมื่อวันเสาร์ที่ 1 กรกฎาคม 2454 นับเป็นประเทศที่สามของโลก ที่จัดให้มีกิจการลูกเสือ ต่อมาได้โปรดเกล้าฯ ให้ขยายการจัดตั้งกองลูกเสือออกไปยังโรงเรียนต่าง ๆ จนมีกองลูกเสืออยู่ทั่วพระราชอาณาจักรอีกด้วย.

 

 

ชนิดา พรหมผลิน/นครปฐม

Loading