วันอาทิตย์, 13 เมษายน 2568

วธ.นครปฐมเข้ารับเกียรติบัตร การขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ พ.ศ. 2567 ประเภทรายการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

วธ.นครปฐมเข้ารับเกียรติบัตร การขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ พ.ศ. 2567 ประเภทรายการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

 

เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2568 เวลา 14.30 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย นางฐิติรัตน์ เรืองสังข์ วัฒนธรรมจังหวัดนครปฐม พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.อภิลักษณ์ เกษมผลกูล อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอพุทธมณฑล เข้ารับเกียรติบัตร การขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ พ.ศ. 2567 ประเภทรายการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ต้องได้รับการส่งเสริมและรักษาอย่างเร่งด่วน สาขาวรรณกรรมพื้นบ้านและภาษา รายการตำนานสุบินกุมาร จังหวัดนครปฐม จากนายประสพ เรียงเงิน ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ประธานในพิธีประกาศขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ประจำปี พ.ศ. 2567 โดยมี นางยุถิกา อิศรางกูร ณ อยุธยา รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (รักษาราชการแทนอธิบดี กรมส่งเสริมวัฒนธรรม) ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัด คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง และชุมชนผู้สืบทอดมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม เข้าร่วมงาน ณ หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรม แห่งประเทศไทย


​กระทรวงวัฒนธรรม ประกาศขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมปี 2567 จำนวน 10 รายการ นำโดยบุญเดือน 3 นมัสการพระธาตุพนม – ตำนานสุบินกุมาร นครปฐม – เพลงทรงเครื่อง ชัยนาท พร้อมมอบนโยบายการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ขับเคลื่อนเป็น Soft Power ของไทย ให้เป็นที่รู้จักระดับสากล
​กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรมได้ดำเนินการประกาศขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญา ทางวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นการบันทึกองค์ความรู้และอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่า สร้างความภาคภูมิใจให้กับชุมชน และส่งเสริมความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย ในการอนุรักษ์และสืบทอดมรดกภูมิปัญญทางวัฒนธรรม ให้คงอยู่ต่อไปอย่างยั่งยืน สำหรับปี พ.ศ. 2567 คณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ได้มีมติประกาศขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม จำนวน 10 รายการ แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่


1. รายการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ต้องได้รับการส่งเสริมและรักษาอย่างเร่งด่วน
1.1 สาขาวรรณกรรมพื้นบ้านและภาษา ได้แก่ ตำนานสุบินกุมาร จังหวัดนครปฐม
1.2 สาขาศิลปะการแสดง ได้แก่ เพลงทรงเครื่อง จังหวัดชัยนาท
1.3 สาขางานช่างฝีมือดั้งเดิม ได้แก่ ผ้าเกาะโส้ จังหวัดนครพนม
1.4 สาขาการละเล่นพื้นบ้าน กีฬาพื้นบ้านและศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว ได้แก่ ยิงคันกระสุน จังหวัดอุทัยธานี
2. รายการตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม
2.1 สาขาวรรณกรรมพื้นบ้านและภาษาได้แก่ 1) ตำนานพระนางสร้อยดอกหมากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และ 2) ตำนานเขานางหงส์ จังหวัดพังงา
​2.2 สาขาศิลปะการแสดง ได้แก่ เรือมอันเร จังหวัดสุรินทร์
​2.3 สาขาแนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรมประเพณี และเทศกาล ได้แก่ บุญเดือน 3 นมัสการพระธาตุพนม จังหวัดนครพนม
​2.4 สาขางานช่างฝีมือดั้งเดิม ได้แก่ เสื่อกกจันทบูร จังหวัดจันทบุรี และผ้าหม้อห้อม จังหวัดแพร่
​​สำหรับตำนานสุบินกุมาร จังหวัดนครปฐม นั้น เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ประเภทวรรณกรรมพื้นบ้านและภาษาแพร่หลายอยู่ในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะภาคกลางและภาคใต้ เรื่องสุบินกุมารนี้สะท้อนความเชื่อเรื่องอานิสงส์ของการบวช คนไทยเชื่อว่าแม้จะมีกรรมเก่าหนักหนา หากมีโอกาสได้บวชจะไม่ต้องตกสู่อบายภูมิ ซึ่งอานิสงส์จากการบวชนี้ไม่เพียงบังเกิดแก่ผู้บวชเท่านั้น แต่ยังส่งผลถึงบิดา มารดา เป็นที่มาของคำกล่าว “เกาะชายผ้าเหลือง ขึ้นสวรรค์” ความแพร่หลายของเรื่องสุบินกุมารนี้แพร่หลายมากในภาคกลางและภาคใต้ แต่ปรากฎการณ์ตั้งศาลสุบินกุมาร หรือศาลเจ้าพ่อสุบิน เพียงแห่งเดียวคือ บริเวณปากคลองมหาสวัสดิ์ อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม และต่อมายังมีการสร้างศาลเจ้าพ่อสุบินขึ้นใหม่ในคลองมหาสวัสดิ์ อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม อีกด้วย ความแพร่หลายนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการนำเรื่องสุบินกุมารมาแต่งเป็นแบบเรียน ชื่อว่า “สุบิน ก กา” ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น


​จากการสำรวจข้อมูลพบว่า ในอำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม นอกจากศาลเจ้าพ่อสุบินแล้วยังมี ผู้สืบทอดแหล่สุบินกุมาร ซึ่งเป็นแหล่เก่า โดยนางบำรุง พินิจกุล หมอทำขวัญพื้นบ้าน รวมถึงพบต้นฉบับสมุดไทย เรื่อง สุบินกุมารกลอนสวด จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์เรือนมหาสวัสดี ในขณะเดียวกันก็พบว่า ผู้คนส่วนใหญ่ไม่มีความรับรู้ ในเรื่องตำนานสุบินกุมารแล้ว ตำนานสุบินกุมารจึงนับเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ล้ำค่าของชาวจังหวัดนครปฐม และชาวไทย ไม่เพียงจะส่งต่อคติความเชื่อสำคัญของพุทธศาสนิกชนในการอุปสมบทสืบทอดพระพุทธศาสนาเท่านั้น หากแต่ยังแสดงให้เห็นถึงค่านิยมความกตัญญูที่ได้รับการปลูกฝังมาแต่โบราณ สะท้อนให้เห็นบทบาทหน้าที่อันสำคัญ ของตำนานสุบินกุมารในสังคมไทยได้เป็นอย่างดี

 

ชนิดา พรหมผลิน/นครปฐม

Loading