วันอาทิตย์, 12 มกราคม 2568

รองนายก ประชุมณะกรรมการ ป.ป.ส.ครั้งที่2/2560 เร่งงานยาเสพติดมุ่งแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชน

รองนายกฯ ประชุมคณะกรรมการฯ ป.ป.ส. ครั้งที่ 2/2560 เร่งงานยาเสพติดมุ่งแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชน

วันศุกร์ที่ 29 กันยายน 2560 เวลา 13.30 น. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ครั้งที่ 2/2560 พร้อมด้วยคณะกรรมการฯ/ผู้บริหารจากหน่วยงานต่างๆ ประกอบด้วย นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และผู้แทนรัฐมนตรี กระทรวงยุติธรรม กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน กระทรวงการต่างประเทศ ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองบัญชาการทหารสูงสุด กองทัพบก สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงบประมาณ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวม 80 คน โดยมีนายศิรินทร์ยา สิทธิชัย เลขาธิการ ป.ป.ส. ในฐานะกรรมการและเลขานุการ เข้าร่วมประชุมฯ สาระสำคัญของการประชุมในครั้งนี้ คือ การพิจารณา (1.) แผนประชารัฐร่วมใจ ปลอดภัยยาเสพติด พ.ศ. 2561 (2.) การมอบอำนาจเปรียบเทียบปรับตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. 2519 มาตรา 17 ทวิ ณ ห้องประชุมตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล

การประชุมครั้งนี้ เป็นการประชุมคณะกรรมการฯ ป.ป.ส ครั้งที่ 2/2560 โดยมีสาระสำคัญของการประชุมเพื่อพิจารณา 2 เรื่อง ดังนี้
1. แผนประชารัฐร่วมใจ ปลอดภัยยาเสพติด พ.ศ. 2561 ประกอบด้วย 4 แผน 20 แผนงาน 106 โครงการ
– แผนป้องกันยาเสพติด มุ่งเน้นการป้องกันอันตรายจากการใช้ยาในทางที่ผิด และควบคุมสภาพแวดล้อมที่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลต่อสุขภาวะ คุณภาพชีวิตของประชาชนในสังคม ประกอบด้วย 8 แผนงาน 49 โครงการ
– แผนปราบปรามยาเสพติด มุ่งเน้นการปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมให้เหมาะสมกับพฤติการณ์การกระทำความผิด และควบคุมสถานการณ์ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบด้วย 4 แผนงาน 32 โครงการ
– แผนบำบัดรักษายาเสพติด มุ่งเน้นการให้ผู้ใช้ ผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติดเข้าถึงบริการสาธารณะสุข และตระหนักถึงโทษพิษภัยของยาเสพติด เข้าใจการปรับสภาพการดำรงชีวิต และลดอันตรายที่จะเกิดขึ้นต่อตนเองและบุคคลอื่นในสังคม ประกอบด้วย 7 แผนงาน 13 โครงการ
– แผนบริหารจัดการแบบบูรณาการ มุ่งเน้นการบูรณาการการดำเนินงานตามแผนประชารัฐร่วมใจ ปลอดภัยยาเสพติด ด้วยการวางระบบอำนวยการ ระบบสารสนเทศ ระบบติดตามประเมินผล และสร้างความรับรู้ ความเข้าใจ ให้เกิดเอกภาพในการดำเนินงาน ประกอบด้วย 1 แผนงาน 12 โครงการ

2. การมอบอำนาจเปรียบเทียบปรับตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. 2519 มาตรา 17 ทวิ จากกรณีผู้กระทำความผิดมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการขายยาเสพติด โดยอาศัยเทคโนโลยีและการส่งยาเสพติดผ่านช่องทางการรับจ้างขนส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์มากขึ้น ประกอบกับผู้รับจ้างขนส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์บางรายปล่อยปละละเลยให้มีการรับฝากสินค้าและพัสดุภัณฑ์โดยไม่มีการบันทึกรายละเอียดของผู้รับ-ผู้ส่ง ซึ่งเป็นช่องว่างให้ไม่สามารถสืบสวนดำเนินคดีได้ เพื่อให้การดำเนินการมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และทันต่อสถานการณ์ จึงได้เสนอให้เลขาธิการ ป.ป.ส. มีอำนาจในการเปรียบเทียบปรับแทนคณะกรรมการ ป.ป.ส. ซึ่งเป็นกรอบในการดำเนินการเปรียบเทียบปรับเจ้าของหรือผู้ดำเนินกิจการสถานประกอบการที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งในการดำเนินการเปรียบเทียบปรับนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ส. ได้ออกระเบียบว่าด้วยการตักเตือน การเปรียบเทียบปรับ และการปิดชั่วคราวสถานประกอบการหรือการพักใช้ใบอนุญาตประกอบการ พ.ศ. 2544 ซึ่งเป็นกรอบในการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวไว้แล้ว (ตามความในข้อ 17 ของระเบียบดังกล่าว)

โดยในปีที่ผ่านมา สำนักงาน ป.ป.ส. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ภายใต้แผน “ประชารัฐร่วมใจ สร้างหมู่บ้าน/ชุมชนมั่นคง ปลอดภัยยาเสพติด พ.ศ. 2559 – 2560” โดยเน้นการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในระดับพื้นที่หมู่บ้าน/ชุมชน เป้าหมาย 81,962 แห่ง เพื่อลดปัญหาการแพร่ระบาดยาเสพติดในระดับพื้นที่ ผ่านกลไก “ประชารัฐ” โดยดำเนินงาน ตาม 3 มาตรการ ดังนี้ 1. มาตรการด้านการปราบปราม สำหรับผู้ค้ายาเสพติด และเครือข่ายถูกจับกุมและดำเนินการ ตามกระบวนการยุติธรรม 2. มาตรการด้านการบำบัดรักษา สำหรับผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติดได้รับการบำบัดรักษา ติดตามดูแล และให้ความช่วยเหลือ 3. มาตรการด้านการป้องกัน สำหรับเด็ก เยาวชน ผู้ใช้แรงงาน และประชาชน ได้รับการสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันยาเสพติดในพื้นที่หมู่บ้าน/ชุมชน พื้นที่เป้าหมายมีการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ซึ่งได้ผลเป็นที่น่าพอใจเห็นได้จากการสำรวจความพึงพอใจของประชาชน โดยสำนักงาน ป.ป.ส. ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ สำรวจความคิดเห็นของประชาชน กลุ่มตัวอย่าง 47,000 คน ใน 77 จังหวัด รอบ 6 เดือน พบว่าประชาชนมีความพึงพอใจต่อผลการดำเนินงานในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ร้อยละ 97.50 และมีความเชื่อมั่นต่อนโยบายของรัฐบาล ในการแก้ไขปัญหายาเสพติด ร้อยละ 97.30

ผู้เสพ คือ ผู้ป่วย “สมัครใจเข้าบำบัด ไม่เสียประวัติ ไม่มีความผิด” แจ้งเบาะแสยาเสพติด สายด่วน ป.ป.ส. โทร. 1386

Loading