นิตยา แสงมณี // สตูล
โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 42 จังหวัดสตูล ก้าวเดินตามรอยพระบาท ร่วมสืบสานแนวทางหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอาชีพและสร้างรายได้ระหว่างการศึกษาให้แก่นักเรียน
วันที่ 2 ธ.ค. 2559 ผู้สื่อข่าวรายงานว่านี่คือภาพกิจวัตรประจำวันในช่วงเย็นหลังเลิกเรียนของเด็กๆ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 42 จังหวัดสตูล ที่ต่างร่วมแรงร่วมใจกันรดน้ำ พรวนดิน พืชผักสวนครัวที่ตนเองปลูกไว้ด้วยความขยันขันแข็ง โดยยึดหลักการปฏิบัติตามแนวทางหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
นางมาณี ฉัตรชัยวงศ์ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 42 จังหวัดสตูล ผู้ริเริ่มโครงการห้องเรียนทางเลือกภาคการเกษตร ตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ เล่าให้ฟังว่า โรงเรียนแห่งนี้อยู่ภายใต้การดูแลของมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จึงเปรียบเสมือนบิดาของนักเรียนทุกคน จึงน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระองค์ท่าน มาบูรณาการจัดการเรียนรู้ โดยแบ่งกลุ่มนักเรียนทั้งโรงเรียนตามความถนัดและความสนใจ ให้พักรวมกันเป็นหอพัก พร้อมปรับเปลี่ยนหอพักเป็นบ้าน มีครูเป็นพ่อแม่ ปรับปรุงบริเวณรอบหอพักแต่ละแห่งเพื่อใช้ทำการเกษตรในด้านต่างๆ อาทิ แปลงเพาะปลูกพืชผักสวนครัว สระเลี้ยงปลา คอกเลี้ยงเป็ด-ไก่ สวนผลไม้ เป็นต้น ซึ่งผลผลิตที่ได้ส่วนหนึ่งจะนำไปประกอบอาหารให้แก่นักเรียน ส่วนที่เหลือจากการบริโภคก็จะนำไปจำหน่ายยังท้องตลาด เงินรายได้จะนำมาแบ่งปันให้กับนักเรียนที่ช่วยกันดูแลผลผลิตนั้น ซึ่งพบว่านักเรียนต่างมีความสุขในการเรียนรู้ และสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้อยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้มากขึ้น
เด็กหญิงบิว ศรีธารโต นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ ซึ่งเป็นชนเผ่าเซมัง กล่าวว่า รู้สึกภูมิใจที่มีโอกาสได้เข้ามาเรียนที่โรงเรียนแห่งนี้ ทำให้ตนมีสังคมที่กว้างขึ้น นอกจากจะได้เรียนตามหลักสูตรการศึกษาทั่วไปแล้ว ยังได้เรียนรู้วิชาชีพด้านการเกษตรอีกด้วย เมื่อปิดภาคเรียนจะได้นำหลักเศรษฐกิจพอเพียงกลับไปพัฒนาหมู่บ้าน เพื่อสร้างรายได้ให้กับครอบครัวต่อไป
ด้านนางสาววารีนิธิ์ หาญทะเล ชาวเลอุรักลาโว้ย ผู้ได้รับโอกาสทางการศึกษาอีกคนหนึ่ง ซึ่งขณะนี้เรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 กล่าวด้วยน้ำตาว่า หลังทราบข่าวพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จสวรรคต รู้สึกเสียใจอย่างที่สุดที่ต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักยิ่ง พระองค์ทรงเปรียบเสมือนพ่อคนที่ 2 ของตนเอง ทรงให้โอกาสทางการศึกษา ให้ความรักความห่วงใย ให้ที่พักอาศัย และยังให้หลักคิดต่างๆ มากมายแก่นักเรียนทุกคน โดยเฉพาะความรู้ด้านหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งชาวเลส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมง ทำให้ไม่มีความรู้ภาคการเกษตร ตนจะได้นำความรู้ดังกล่าวไปถ่ายทอดแก่คนในหมู่บ้าน เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้และเสริมสร้างคุณภาพชีวิตชาวเลให้ดีขึ้นตามลำดับ
ข้อมูลข่าว
กาหลง สื่อสอาสา
ข่าวออนไลน์ 4 ภาค