วันจันทร์, 27 มกราคม 2568

ปลัดกระทรวงสาธารณสุขลงพื้นที่นราธิวาสพัฒนาห้องฉุกเฉินคุณภาพ

ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่นราธิวาส พัฒนาห้องฉุกเฉินคุณภาพในโรงพยาบาลทุกแห่งทั่วประเทศ พร้อมรับมือดูแลผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉิน

 

กระทรวงสาธารณสุข เผยสถิติผู้รับบริการที่ห้องฉุกเฉินเฉลี่ย 35 ล้านครั้งต่อปี พบร้อยละ 60 เป็นผู้ป่วยไม่ฉุกเฉิน พร้อมวางเป้าพัฒนาห้องฉุกเฉินทั่วประเทศ มีระบบคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินชัดเจน ให้ผู้ป่วยวิกฤตได้รับการรักษาปลอดภัย ลดอัตราการตาย ลดความพิการ ด้วยทีมแพทย์ และเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ มาตรฐาน
เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 6 ตุลาคม 2560 ที่ ห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เมือง จ.นราธิวาส นายแพทย์ เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมคณะเดินทางมาตรวจห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ โดยมี น.พ. วิชัย วิเชียรวัฒนชัย ผอ.โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ น.พ.สมหมาย บุญเกลี้ยง สาธารณสุข จ.นราธิวาส และ ผอ.โรงพยาบาลยะลา ปัตตานี และ ผอ.โรงพยาบาลทั้ง 13 อำเภอ ของจังหวัดนราธิวาส พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาให้การต้อนรับ

 


น.พ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารสุข เปิดเผยหลังนำคณะลงพื้นที่ติดตามนโยบายการจัดบริการด้านการแพทย์ และสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 12 และตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ ว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ปฏิรูประบบสุขภาพ มีการเชื่อมโยงระบบบริการปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ เบ็ดเสร็จภายในเขตสุขภาพโดยเฉพาะผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉินได้รับการบริการที่ได้มาตรฐานทั่วถึง เป็นธรรม ซึ่งปัจจุบันทั่วประเทศมีสถิติผู้รับบริการที่ห้องอุบัติเหตุฉุกเฉิน (ER) เฉลี่ย 35 ล้านครั้งต่อปี ร้อยละ 60 เป็นผู้ป่วยไม่ฉุกเฉินทำให้เกิดความแออัด ประกอบกับการขาดแคลนบุคลากร รัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุขเร่งรัดให้มีการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินของโรงพยาบาลทุกระดับ เพื่อให้ประชาชนที่เจ็บป่วยฉุกเฉินได้รับความปลอดภัยมากที่สุด ลดอัตราการตาย และลดความพิการ โดยพัฒนาก้องฉุกเฉินให้เป็นห้องคุณภาพ (ER QUALITTY) อาทิ รถพยาบาลปลอดภัย มีเครื่องช่วยชีวิตที่ได้มาตรฐาน มีระบบคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินชัดเจนมีมาตรฐาน ผู้ป่วยวิกฤตต้องได้รับการรักษาด่วนไม่อยู่ห้อง ER นานกว่า 4 ชั่วโมง เจ็บป่วยฉุกเฉินรักษาฟรีทุกที่ทุกสิทธิ์ (UCEP) ความปลอดภัยเจ้าหน้าที่ที่ห้องฉุกเฉินไม่ถูกคุกคาม โรงพยาบาลศูนย์ขนาดใหญ่ต้องจัดแพทย์เฉพาะทางแต่ละสาขาเป็นแพทย์ที่ปรึกษากรณีจำเป็นตลอด 24 ชั่วโมง เป็นต้น ตลอดจนพัฒนาบุคลากรแต่ละสาขาวิชาชีพให้เพียงพอ โดยให้โรงพยาบาลทั่วประเทศประเมินและปรับปรุงตนเองให้ได้ตามเกณฑ์ คาดว่าจะสามารถลดอัตราการตายเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 – 30 ทั้งนี้ประชาชนเจ็บป่วยฉุกเฉินหรือได้รับอุบัติเหตุสามารถแจ้งตามหมายเลข 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง

 


ด้าน น.พ.เจษฎา ฉายคุณรัฐ ผู้ตรวจราชการเขตสุขภาพที่ 12 กล่าวว่า เขตสุขภาพที่ 12 ประกอบด้วย 7 จังหวัด ได้แก่ ตรัง พัทลุง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส มีประชากร 4,887,545 คน มีโรงพยาบาลที่ผ่านการประเมิน ER คุณภาพแล้ว คือ รพ.ตรัง รพ.พัทลุง รพ.หาดใหญ่ รพ.สงขลา รพ.สตูล รพ.ยะลา รพ.ปัตตานี และ รพ.นราธิวาส โดยมีการพัฒนาโรงพยาบาลในเขตให้เป็นโรงพยาบาลที่มี ER คุณภาพครบทุกโรงพยาบาล โดยเฉพาะพื้นที่พิเศษ เพื่อให้ผู้ป่วยปลอดภัย และลดอัตราการตาย และลดพิการ สำหรับโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ ในปี 2559 มีผู้มารับบริการที่ ER จำนวน 3,862 คน เฉลี่ย 160 คน ต่อวัน และเป็นโรงพยาบาลขนาด S จำนวน 100 เตียง.

ภาพ/ข่าว ซาการียา ดอเลาะ จ.นราธิวาส

Loading