วันพฤหัสบดี, 23 มกราคม 2568

มวล.แถลงข่าวผลการดำเนินงานการเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยสมบูรณ์แบบ

มวล.แถลงข่าวผลการดำเนินงานการเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยสมบูรณ์แบบ และนโยบายการก้าวสู่ความเป็นนานาชาติ และความพร้อมการเปิดบริการศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์


วันนี้ (1 พฤศจิกายน 2560) ณ ห้องโมคลาน อาคารบริหาร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นประธานแถลงข่าวผลการดำเนินงานการเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยสมบูรณ์แบบ และนโยบายการก้าวสู่ความเป็นนานาชาติ ร่วมกับรองอธิการบดี และแถลงความพร้อมการเปิดบริการศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้มีพัฒนาการและเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีการเปิดการเรียนการสอนครอบคลุม ทั้งด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และด้านมนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์ ปัจจุบันมีนักศึกษาในระดับปริญญาตรี โทและเอก ประมาณ 8,000 คน โดยในทุกหลักสูตรเน้นการสอนทฤษฎีควบคู่กับการฝึกปฏิบัติวิชาชีพอย่างเข้มข้น และสหกิจศึกษา มีห้องปฏิบัติการที่มีความพร้อมด้านอุปกรณ์และสื่อการสอนที่ทันสมัย โดยเฉพาะหลักสูตรทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรแพทยศาสตร์ เภสัชศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ ที่นักศึกษามีศักยภาพที่โดดเด่น สามารถสอบใบประกอบวิชาชีพผ่านในระดับดีเยี่ยมในกลุ่มเดียวกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ จากผลสำรวจพบว่า บัณฑิตมีงานทำ 100 % ส่วนหลักสูตรอื่นๆ มากกว่า 90% มีงานทำหลังสำเร็จการศึกษา ซึ่งสะท้อนถึงคุณภาพการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยได้เป็นอย่างดี


ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของการวิจัยนั้น มีบทความวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์สะสมรวมในฐานข้อมูล Scopus เกินกว่า 900 บทความ โดยขณะนี้มีจำนวนประมาณ 0.25 บทความนานาชาติต่ออาจารย์ต่อปี และมีบทความ 12 เรื่องในปีนี้ที่ได้ตีพิมพ์ ในวารสารที่มีค่า ISI impact factor มากกว่า 4 โดยบทความที่มีค่า ISI impact factor สูงสุด อยู่ที่ 9.144 ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากหน่วยงานภายนอก เช่น สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) และหน่วยงานภาครัฐและเอกชนอื่นๆ รวมสูงถึง 110 ล้านบาท ทั้งยังเป็นแม่ข่าย สกอ. ภาคใต้ตอนบน รับผิดชอบ Innovation Hub : Creative Economy เพิ่มเติมจากเครือข่ายวิจัยฯ ชุมชนฐานราก และ เครือข่ายวิจัยฯ เชิงพาณิชย์ นอกจากนี้ยังร่วมดำเนินโครงการใหม่ของประเทศ ได้แก่ Talent Mobility, Innovative Startup, Research for Community และ ทุนท้าทายไทย : นวัตกรรมเพื่อการพัฒนาพื้นที่ อีกด้วย สำหรับทิศทางของ ม.วลัยลักษณ์ต่อจากนี้ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มีเป้าหมายที่จะก้าวไปสู่ความเป็นนานาชาติ และ World Class University โดยจะนำมหาวิทยาลัยเข้าสู่การจัดอันดับ QS World University Ranking เริ่มจากการปฏิรูปการเรียนการสอนโดยนำมาตรฐาน UKPSF (United Kingdom Professional Standards Framework) มาใช้ในมหาวิทยาลัย ให้ความสำคัญกับการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษให้แก่นักศึกษามากขึ้น และจัดการเรียนการสอนด้วยภาษาอังกฤษในทุกหลักสูตร รวมทั้งจัดตั้ง “สถาบันภาษา” เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะสากลให้แก่นักศึกษา สนับสนุนให้นักศึกษาไปปฏิบัติงานสหกิจศึกษาในต่างประเทศ ปัจจุบันมหาวิทยาลัยได้ส่งนักศึกษาไปในประเทศต่างๆ รวมกว่า 16 ประเทศ ทั้งยังได้มีการปรับปรุงหลักสูตรต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้บัณฑิต กำหนดให้มี Exit Exam เพี่อประกันคุณภาพของบัณฑิต ซึ่งหากสอบผ่านจะมีหนังสือรับรองคุณภาพบัณฑิตให้ด้วย
ทั้งนี้ องค์ประกอบสำคัญเพื่อให้มหาวิทยาลัยมีชื่ออยู่ในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก เราจะต้องเพิ่มจำนวนนักศึกษาและอาจารย์ต่างชาติอย่างละไม่น้อยกว่า 5% จัดหลักสูตรการเรียนการสอนโดยใช้ภาษาอังกฤษ ทั้งนี้ในปี 2561 จะเปิดวิทยาลัยทันตแพทยศาสตร์นานาชาติ วิทยาลัยสัตวแพทยศาสตร์นานาชาติ อัครราชกุมารี วิทยาลัยนานาชาติ และหลักสูตรนิติศาสตร์นานาชาติ สำหรับหลักสูตร English Programme มีแผนเปิดในสำนักวิชาสหเวชศาสตร์ สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และทรัพยากร (หลักสูตรวิศวกรรมเคมี) และ สำนักวิชาสารสนเทศศาสตร์ รวมทั้งการปรับปรุงบรรยากาศและสภาพแวดล้อมให้มีความเป็นสากลยิ่งขึ้น“ปัจจัยที่จะมาสนับสนุนและส่งเสริมความโดดเด่นของมหาวิทยาลัย คือ การจัดตั้งศูนย์การแพทย์ ม.วลัยลักษณ์ ซึ่งมหาวิทยาลัยได้เปิดโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์นำร่องให้บริการแก่ประชาชนทั่วไปมาแล้วระยะหนึ่ง และจะมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2560 สำหรับการก่อสร้างจะแล้วเสร็จในปีพ.ศ.2562 และจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในปี 2564 เป็นโรงพยาบาลขนาด 750 เตียง สามารถรองรับผู้ใช้บริการได้ปีละเกือบ 1 ล้านคน” ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ กล่าวในที่สุด

 


สำหรับความคืบหน้าและความพร้อมในการเปิดบริการศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นายแพทย์จรัส จันทร์ตระกูล ผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์ฯ กล่าวว่า ขณะนี้ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อยู่ในขั้นตอนของการก่อสร้างซึ่งมีความก้าวหน้าตามลำดับ กำหนดแล้วเสร็จในปี 2562 และสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2563 ขณะที่ในปัจจุบันทางมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มีสถานที่ที่มีความพร้อม มีบุคลากร คณะแพทย์ของทางมหาวิทยาลัยเอง สามารถเปิดให้บริการประชาชนแล้ว ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2560 ที่ผ่านมา รวมระยะเวลา 8 เดือน เป็นการเปิดให้บริการในระยะเริ่มแรกให้บริการผู้ป่วยนอก มีบริการคลินิกพิเศษต่าง ๆ เปิดให้บริการทุกวัน วันจันทร์-วันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.00 น. – 20.00 น. ในวันหยุด เสาร์-อาทิตย์ เปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 08.00-12.00 น. โดยมีบริการตรวจโรคทั่วไป บริการเปิดคลินิกตรวจโรคทางสายตา ทุกวันพฤหัสบดี ตั้งแต่ 08.00 น. – 20.00 น. ขณะนี้คิวจองรักษาเต็มจนถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2560 มีบริการตรวจ มีบริการศัลยกรรมคลินิกเต้านม สำหรับผู้ที่มีปัญหาทั้งมีก้อนเนื้อ หรือมีความผิดปกติ ต่าง ๆ มีบริการคลินิกโรคภูมิแพ้ หอบหืดในเด็ก จะมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมาบริการรักษาโดยเฉพาะ ส่วนในอนาคตจะเปิดบริการรักษาในโรคต่าง ๆ เพื่อรองรับการบริการของพี่น้องประชาชน และกำหนดเปิดตัวให้บริการอย่างเป็นทางการในวันที่ 23 พฤศจิกายนนี้

พรรณี กลสามัญ/ภาพข่าว
วีระยุทธ์/ภาพ
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดนครศรีธรรมราช

Loading