วันเสาร์, 11 มกราคม 2568

เกษตรกรชาวสวนยางพาราและปาล์มรวมพลังหาแนวทางแก้ปัญหายางพาราตก

เกษตรกรชาวสวนยางพาราและปาล์มนราธิวาส รวมพลัง ถกหาแนวทางการแก้ปัญหายางพาราตกราคา กำหนดยุทธศาสตร์ ยกระดับคุณภาพชีวิต


ที่ห้องประชุม ส่งเสริมและพัฒนาการยาง อาคารกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางการแห่งประเทศไทย อ.เมือง จ.นราธิวาส ตัวแทนสหกรณ์กองทุนสวนยางต่างๆในพื้นที่ จ.นราธิวาส รวม 6 สหกรณ์ ประกอบด้วย 1.สหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านป่าไผ่ จำกัด (ผลิตน้ำยางสด) อ.ระแงะ 2.สหกรณ์กองทุนสวนยางไอร์กรอส จำกัด (ผลิตยางแผ่น) อ.จะแนะ 3.สหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านบาโงดุดุง จำกัด (ผลิตยางก้อนถ้วย) อ.เจาะไอร้อง 4.สหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านแซะ จำกัด (ผลิตยางก้อนถ้วย) อ.สุไหงปาดี 5.สหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านโคกเคียน จำกัด (ผลิตน้ำยางสด) อ.เมือง และ 6.สหกรณ์การเกษตรเมืองนราธิวาส จำกัด (ผลิตยางแผ่นและยางก้อนถ้วย) อ.เมืองนราธิวาส ร่วมปรึกษาหารือถึงมาตรการต่างๆที่จะทำให้ชาวเกษตรกรที่ปลูกยางพารา และปลูกปาล์มน้ำมันที่มีราคาตกต่ำอยู่ในขณะนี้ เพื่อให้เกิดรายได้ที่สามารถช่วยเหลือหล่อเลี้ยงครอบครัวให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นหลังประสบกับปัญหาราคาตำต่ำมายาวนานหลายปี โดยมีหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ มาร่วมประชุมหาแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้กับเกษตรกร ประกอบด้วย ผู้แทนพิเศษรัฐบาลกลุ่มภารกิจงานพัฒนาศักยภาพในพื้นที่และคุณภาพชีวิตของประชาชน สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดนราธิวาส สำนักงานสหกรณ์จังหวัดนราธิวาส สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานสภาเกษตรจังหวัดนราธิวาส และ องค์การบริหารส่วนจังหวัดนราธิวาส
นายคล้อย ไกรน้อย เกษตรกรผู้ปลูกยางพาราและปาล์มน้ำมัน เปิดเผยว่า เกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนมากที่สุดในขณะนี้ คือ เกษตรกรชาวสวนยางที่ได้รับผลกระทบจากราคายางที่ตกต่ำ ไม่คุ้มกับต้นทุนที่ลงไป และอยากเรียกร้องให้รัฐบาลปรับสมดุลกับความต้องการพื้นที่ให้เหมาะสม ซึ่งถ้าผลผลิตออกสู่ตลาดมากเกินไปราคาก็ย่อมจะตกต่ำลง อีกอย่างผู้ที่ปลูกยางพาราในพื้นที่ป่าสงวนในขณะนี้รัฐบาลควรจะปรับผลผลิตลงบ้าง และสำหรับผู้ที่ปลูกยางพาราในพื้นที่ตัวเองที่ถูกต้องตามกฏหมายนั้นรัฐบาลกลับพยายามให้ลดการผลิตและพื้นที่ลง แต่ถ้ารัฐบาลปรับผลผลิตและพื้นที่ให้ลดลงทั้ง 2 พื้นที่ให้สมดุลกันผลผลิตที่ออกสู่ตลาดก็จะน้อยลง ทำให้ราคาดีขึ้นตามลำดับอย่างสมดุลกับความต้องการของตลาด
ด้านนายนอร์ดีน เจะแล สหกรณ์จังหวัดนราธิวาส กล่าวถึงแนวทางการแก้ปัญหาว่า เป็นการเปิดเวทีพูดคุยเพื่อแก้ปัญหาและน่าจะถึงเวลาแล้วที่ชาวเกษตรกรปลูกยางพารากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใน จ.นราธิวาส มาร่วมคิดกันว่าจะวางยุทธศาสตร์การพัฒนายางของนราธิวาสให้มีทิศทางที่ชัดเจน ไม่ใช่ต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างพัฒนา และถึงเวลาแล้วที่ทุกภาคส่วนจะมาถอดบทเรียนในเรื่องการพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งในเรื่องของยางพารา โดยในอดีตที่ผ่านมาได้มีการก่อตั้งสหกรณ์ต่างๆประมาณ 60 แห่ง ทั่วทั้งภาคใต้ รวมถึง จ.นราธิวาส ด้วยระยะเวลาผ่านมากว่า 20 ปี ทำให้สหกรณ์บางแห่งไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ บางแห่งก็จำเป็นต้องเลิกรากิจการไป โดยในแง่ของศักยภาพการผลิตยางแผ่นรมควันนั้นถูกมองว่าอาจจะไม่สอดคล้องกับวิธีชีวิตของคนในพื้นที่บ้านเรานัก เพราะเกษตรกรในพื้นที่นั้นต้องการเงินใช้เร็ว ซึ่งเหมาะกับการขายน้ำยางสด และการทำยางอัดก้อน เพราะฉะนั้นวิธีคิดและยุทธศาสตร์ของการพัฒนายางของ จ.นราธิวาส ต้องเริ่มต้นตั้งแต่การคิดค้นที่จะพัฒนาน้ำยางสดให้เกิดมูลค่าเพิ่มและเกษตรกรสามารถขายได้ในราคาที่ดีกว่าในราคาปัจจุบัน
“สำหรับยุทธศาสตร์ที่วางไว้ คือ สิ่งที่น่าจะศึกษาความเป็นไปได้ คือ การหาช่องทางในการที่จะจัดตั้งโรงงานปรับสกัดน้ำยางสดเป็นน้ำยางข้น เพราะอย่างน้อยที่สุดเราสามารถนำน้ำยางสดที่มีอยู่ ประมาณ 50 – 60 ตัน ต่อวัน เข้าสู่โรงงานน้ำยางข้น ซึ่งสามารถมีอายุการเก็บน้ำยางข้นได้นานกว่าน้ำยางสด ซึ่งล่าสุดพบว่าเกษตรกรในพื้นที่ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ได้นำน้ำยางข้นไปแปรรูปเป็นสินค้าและผลิตภัณฑ์ได้หลายอย่าง และสามารถสร้างรายได้ดี และเป็นเรื่องที่ทางภาครัฐจะต้องส่งเสริมในอนาคตนี้ต่อไป
สำหรับ จ.นราธิวาส มีพื้นที่ปลูกยางพาราทั้งสิ้น จำนวน 1,008,345 ไร่ มีผลผลิต 823,691 ไร่ มีผลผลิต 201,564 ตัน ต่อปี โดยได้ผลผลิต 245 กก.ต่อไร่ โดยแยกเป็นยางก้อนถ้วย สัดส่วน ประมาณ 85 % น้ำยางสด สัดส่วน ประมาณ 10 % และยางแผ่นดิบ สัดส่วน ประมาณ 5 %

 

ภาพ/ข่าว ซาการียา ดอเลาะ จ.นราธิวาส

Loading