วันพุธ, 27 พฤศจิกายน 2567

ชาวสงขลาแห่ชม Super Blue Blood Moon จันทรุปราคาสีแดงอิฐครั้งแรกในรอบปี

01 ก.พ. 2018
125

ชาวสงขลาแห่ชม Super Blue Blood Moon จันทรุปราคาสีแดงอิฐครั้งแรกในรอบปี

เมื่อคืนวันนี้ (31 ม.ค.) ที่บริเวณศาลาไทย ชายหาดสมิหลา เขตเทศบาลนครสงขลา สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดสังเกตการณ์ “จันทรุปราคาเต็มดวง” มีชาวสงขลาจำนวนมากสนใจมาร่วมชมดวงจันทร์เต็มดวงสีแดงอิฐแบบเต็มตาผ่านกล้องโทรทรรศน์หลากหลายชนิดถึง 12 ตัว ครั้งนี้เป็นครั้งพิเศษจันทรุปราคาเต็มดวงช่วงที่ดวงจันทร์โคจรใกล้โลกและตรงจันทร์เพ็ญครั้งที่สองของเดือน จะเห็นจันทร์เต็มดวงสีแดงอิฐมีขนาดใหญ่กว่าปกติ หรือเรียกว่า “ซูเปอร์บลูบลัดมูน”

ในวันนี้ปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงที่เกิดในวันที่ 31 มกราคมนี้ค่อนข้างพิเศษกว่าครั้งอื่น เนื่องจากเป็นปรากฏการณ์จันทรุปราคาที่เกิดในช่วงดวงจันทร์โคจรอยู่ใกล้โลก ช่วงกึ่งกลางคราสเต็มดวง มีระยะห่างจากโลกเพียง 360,191 กิโลเมตร ซึ่งใกล้กว่าระยะห่างเฉลี่ยระหว่างโลกถึงดวงจันทร์ (ประมาณ 384,400 กิโลเมตร) จะมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวงสีแดงอิฐมีขนาดปรากฏใหญ่กว่าปกติ

นอกจากนี้ ยังตรงกับจันทร์เพ็ญครั้งที่ 2 ของเดือนอีกด้วย หรือที่นิยมเรียกกันว่าบลูมูน (Blue Moon) ซึ่งปกติดวงจันทร์เต็มดวงจะเกิดขึ้นเดือนละ 1 ครั้งเท่านั้น เดือนไหนที่มีดวงจันทร์เต็มดวง 2 ครั้ง จะเรียกดวงจันทร์เต็มดวงครั้งที่สองว่า “บลูมูน” ซึ่งเกิดขึ้นไม่บ่อยครั้งนัก เป็นที่มาของสำนวนภาษาอังกฤษที่ว่า “Once in a blue moon” หมายถึง นานทีจะเกิดขึ้นสักครั้ง และดวงจันทร์ไม่ได้เป็นสีน้ำเงินแต่อย่างใด ปรากฏการณ์นี้นักดาราศาสตร์สมัครเล่น นิยมเรียกว่า “ซูเปอร์บลูบลัดมูน” (Super blue blood moon) เป็นจันทรุปราคาเต็มดวงช่วงที่ดวงจันทร์โคจรใกล้โลกและตรงจันทร์เพ็ญครั้งที่สองของเดือนนั่นเอง

ปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงครั้งแรกของปีสุดพิเศษในครั้งนี้ในประเทศไทยสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ตั้งแต่ช่วงหัวค่ำทางทิศตะวันออก ตั้งแต่เวลาประมาณ 18:30 น. เป็นต้นไป เวลาคราสเต็มดวง 19:51-21:07 น. และสิ้นสุดปรากฏการณ์ในเวลา 23:08 น. ตามเวลาประเทศไทย เป็นปรากฏการณ์ทางทางดาราศาสตร์ที่สามารถอธิบายได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์และไม่เกิดอันตรายต่อโลกแต่อย่างใด

นายปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์/หาดใหญ่-สงขลา

Loading