สพฐ. ผนึก มรภ.สงขลา เปิดเพิ่ม 7 รุ่น ค่ายครูสื่อสารภาษาอังกฤษ
สพฐ. จับมือ มรภ.สงขลา เปิดเพิ่มอีก 7 รุ่นค่ายภาษาอังกฤษ (Boot Camp) ดึงครู 6 จังหวัดใต้เพิ่มทักษะสื่อสาร ผ่านกิจกรรมเรียนรู้ร่วมกัน-ใช้สื่อหลากหลาย ช่วยผู้เรียนเข้าใจได้ดีขึ้น
ดร.สลิลา วงศ์กระจ่าง ผู้อำนวยการศูนย์ภาษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) ได้เปิดเผยว่า จากความสำเร็จของค่ายภาษาอังกฤษ (Boot Camp) รุ่นที่ 13 ที่ผ่านพ้นไปด้วยดี ผู้เข้าอบรมประทับใจในการถ่ายทอดของวิทยากรอย่างมาก และมั่นใจว่าสามารถนำไปใช้ได้จริงกับเด็กในชั้นเรียนของตนเอง สพฐ. จึงร่วมกับ มรภ.สงขลา ดำเนินการจัดอบรมต่อเนื่อง รุ่นที่ 14-20 ให้แก่ครูสอนภาษาอังกฤษในพื้นที่ จ.พัทลุง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และ นราธิวาส ระหว่างวันที่ 12 ก.พ.-14 ก.ย. 2561 จำนวน 7 รุ่น ดังนี้ รุ่นที่ 14 อบรม 12 ก.พ.-2 มี.ค. รุ่นที่ 15 อบรม 12-30 มี.ค. รุ่นที่ 16 อบรม 23 เม.ย.-11 พ.ค. รุ่นที่ 17 อบรม 21 พ.ค.- 8 มิ.ย. รุ่นที่ 18 อบรม 25 มิ.ย.-31 ก.ค. รุ่นที่ 19 อบรม 30 ก.ค.- 17 ส.ค. และ รุ่นที่ 20 อบรม 27 ส.ค.-14 ก.ย. 61 ณ ศูนย์ภาษาและคอมพิวเตอร์ มรภ.สงขลา โดยเปิดรับผู้เข้าอบรมรุ่นละ 35 คน ได้แก่ ครูระดับประถมศึกษา 50 คน (2 ห้อง) และ ครูระดับมัธยมศึกษา 25 คน (1 ห้อง) เข้ารับความรู้จากวิทยากร British Council ซึ่งผู้สนใจเข้ารับการอบรมสมัครลงทะเบียนได้ที่เว็บไซต์ cc.skru.ac.th/regis
ดร.สลิลา กล่าวต่ออีกว่า มรภ.สงขลา ได้รับคัดเลือกจากสำนักงานคณะกรรมการการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ) ให้เป็นศูนย์พัฒนาครูด้านการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในระดับภูมิภาค (Boot Camp) ภาคใต้ตอนล่าง จึงอยากขอเชิญชวนบุคลากรในสังกัด สพฐ. พื้นที่ 6 จังหวัดภาคใต้ เข้ารับการอบรมตามวันและเวลาดังกล่าว ซึ่งผู้เข้าอบรมจะได้รับความรู้เกี่ยวกับเทคนิค วิธีการสอนภาษาอังกฤษทั้งสี่ทักษะ ตามทฤษฎี CLT (Communicative Language Teaching) อันเป็นเทคนิควิธีการสอนภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร โดยมุ่งเน้นการเรียนรู้โครงสร้างภาษาเพื่อการสื่อสารผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ร่วมกัน และสื่อที่หลากหลาย ช่วยให้ผู้เรียนเรียนภาษาอังกฤษได้ผลยิ่งขึ้น และใช้งานได้ตามสถานการณ์จริง
“เด็กไทยเรียนภาษาโดยเน้นแต่ไวยากรณ์ จึงพูดสื่อสารไม่ได้ ดังนั้น การเรียนการสอนตามหลักสูตรที่จัดขึ้นของค่ายภาษาอังกฤษ จะช่วยให้เด็กเข้าใจทั้งไวยากรณ์ ผ่านการใช้จริง ทำให้เกิดความเข้าใจมากขึ้น ซึ่งการเรียนรู้เช่นนี้จะเกิดขึ้นได้ในห้องเรียนก็ต้องอาศัยผู้สอนที่เข้าใจเทคนิควิธีการนี้จริงๆ และนำไปใช้กับนักเรียน” ผู้อำนวยการศูนย์ภาษา กล่าว
นายปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์/หาดใหญ่-สงขลา