กระทรวงศึกษาธิการ มุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ สู่ความร่วมมือระหว่าง อาชีวศึกษา-กศน. คิดค้นนวัตกรรมตามแนวคิดของประชาชน 1 อำเภอ 1 ชิ้นงาน
นับเป็นความมุ่งหวังของกระทรวงศึกษาธิการ ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในทุกภาค การที่จะดำเนินการดังกล่าวไปสู่ความสำเร็จได้นั้น ต้องอาศัยกระบวนการของการจัดทำแผนที่ดี กระทรวงศึกษาธิการจึงมีนโยบายในการขับเคลื่อนแผนบูรณาการด้านการศึกษาระดับภาคของกระทรวงศึกษาธิการทั้ง 6 ภาคทั่วประเทศ โดยสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้จัดทำโครงการขับเคลื่อนแผนบูรณาการด้านการศึกษาระดับภาค รองรับแผนพัฒนาภาคแบบบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ 2561 เพื่อให้ผู้บริหารการศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาและสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เกิดความร่วมมือในการขับเคลื่อนพัฒนาด้านการศึกษาตามกรอบทิศทางการพัฒนาภาค (ภาคใต้ชายแดน)
11 กุมภาพันธ์ 2561 ณ โรงแรมเซาท์เทิร์นวิว ปัตตานี อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ/หัวหน้าผู้แทนพิเศษของรัฐบาล เป็นประธานเปิดการประชุมจัดทำและขับเคลื่อนแผนบูรณาการด้านการศึกษาระดับภาค รองรับแผนพัฒนาภาคแบบบูรณาการภาคใต้ชายแดนและพิธีลงนามความร่วมมือ MOU ในการร่วมกันขับเคลื่อนพัฒนาด้านการศึกษา เพื่อนักศึกษาและประชาชนระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษากับคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย
พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ กล่าวว่า ครั้งนี้ นอกจากเป็นการประชุมจัดทำและขับเคลื่อนแผนบูรณาการด้านการศึกษาระดับภาค รองรับแผนพัฒนาภาคแบบบูรณาการภาคใต้ชายแดน แล้วยังมีพิธีลงนามความร่วมมือ MOU ในการร่วมกันขับเคลื่อนพัฒนาด้านการศึกษา เพื่อนักศึกษาและประชาชน ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษากับคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อสนับสนุนส่งเสริมธุรกิจ SMWs วิสาหกิจชุมชน OTOP ในการคิดค้นดำเนินการให้เกิดชิ้นงานที่เป็นนวัตกรรมตามแนวคิดของประชาชน สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) มีบทบาทหน้าที่ สรรหา และตัดสินใจในการนำประชาชนที่มาศึกษาทั้งหลักสูตรระยะยาว หลักสูตรระยะสั้น ที่ประกอบอาชีพและ มีแนวคิดจะพัฒนานวัตกรรมชิ้นงาน แต่ไม่มีเครื่องมือ เครื่องจักร ส่งต่อให้ สอศ. ในพื้นที่ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) มีบทบาทหน้าที่ จัดอาจารย์ช่าง และร่วมกับผู้ประกอบการในการใช้เครื่องมือ เครื่องจักร (แต่วัสดุ วัตถุดิบ ผู้ประกอบการและประชาชนจะต้องเป็นผู้จัดหา) และให้นักศึกษาเข้ามาศึกษา สังเกตการณ์ และฝึกปฏิบัติการ โดยทั้ง 2 ฝ่าย จะร่วมกันสนับสนุนให้เกิดนวัตกรรมชิ้นงานให้ผู้ประกอบการอย่างน้อยอำเภอละ 1 ชิ้นงาน ทั้งนี้ให้นำชิ้นงานนั้นมาจัดแสดง และเชิญนักธุรกิจมาเยี่ยมชมเพื่อติดต่อซื้อขายในแต่ละปีงบประมาณ
สามารถเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน สร้างงาน สร้างรายได้ สนับสนุนการศึกษาเพื่อประกอบอาชีพ สร้างโอกาสในการเรียนระดับอาชีวศึกษาที่มีการพัฒนาทักษะการทำงานพร้อมการประกอบอาชีพ และสนับสนุนการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพทุกระดับ ทั้งยังเป็นการพัฒนาและสนับสนุนทักษะฝีมือแรงงาน ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ทั้งในพื้นที่และต่างประเทศ รองรับการพัฒนาเขตอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป เมืองการค้าและเมืองท่องเที่ยวชายแดน “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” อีกด้วย
การดำเนินงานของกระทรวงศึกษาธิการ เป็นการทำงานเชิงรุกมากขึ้น โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน มีการบูรณาการงานร่วมกัน เพื่อให้มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ระดับภาคสู่การปฎิบัติ พร้อมทั้งประกาศให้ปี 2561 เป็นปีแห่งการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มุ่งเน้นให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการศึกษาที่เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกับบริบทของพื้นที่ในสังคมพหุวัฒนธรรม ที่มีอัตลักษณ์ ศาสนาและวัฒนธรรมเฉพาะของพื้นที่
ภาพ/ข่าว ซาการียา ดอเลาะ จ.นราธิวาส