จังหวัดนครศรีธรรมราช ประชุมคณะกรรมการรักษาความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยภายในจังหวัด หลังจาก หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร
วันนี้ (13 กุมภาพันธ์ 2561) ที่ห้องประชุมศรีวิชัย ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช นายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการรักษาความมั่นคงและสงบเรียบร้อยจังหวัดนครศรีธรรมราช ครั้งที่ 1 หลังจาก หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 51/2560 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ข้อ 6 มาตรา 13/1 และมาตรา 13/2 ให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดนครศรีธรรมราช จากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นผู้มีอำนาจในการลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการฯ เพื่อทำหน้าที่ในการอำนวยการ บูรณาการ และประเมินผลการดำเนินงานรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด กำหนดแนวทางในการจัดทำแผนรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด และพิจารณาให้ความเห็นชอบแผนรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด และแผนงานโครงการด้านอื่น ๆ อาทิ ด้านการรักษาความสงบเรียบร้อยด้านเศรษฐกิจ และสังคมของทุกส่วนราชการในจังหวัดที่เชื่อมโยงกับความมั่นคงภายในจังหวัด กำหนดแนวทางหรือมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับความมั่นคงภายในจังหวัด พิจารณาให้ความเห็นต่อการดำเนินการตามแผนงานโครงการของทุกภาคส่วนที่มีผลกระทบหรืออาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงภายในจังหวัดตลอดจนให้คำปรึกษา แนะนำ หรือสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่รักษาความมั่นคงภายในจังหวัด โดยมีหัวหน้าส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง
สำหรับประเด็นสำคัญหลัก ๆ ของคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 51/2560 ที่แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือที่รู้จักกันในนาม “พ.ร.บ. ความมั่นคง” ซึ่งก็คือกฎหมายที่ให้อำนาจหน่วยงานที่ชื่อ กอ.รมน.แก้ไขปัญหาภัยคุกคามด้านความมั่นคงภายใน ประเด็นที่ถูกแก้ไขใหม่ คือ การเพิ่มนิยมของคำว่า “การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร” จากเดิมที่หมายถึงภัยคุกคามทั่ว ๆ ไป แต่ของใหม่ให้หมายรวมถึง “สาธารณภัย” ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ทั้งที่เกิดขึ้นแล้วและคาดว่าจะเกิดด้วย และยังหมายความรวมถึงภัยทางอากาศ และการก่อวินาศกรรมด้วย โดยเหตุผลในการแก้ไขกฎหมายมี 3 ข้อใหญ่ ๆ คือ 1) ปัจจุบันภัยคุกคามเปลี่ยนรูปแบบอย่างรวดเร็ว ทั้งภายในและภายนอก 2) ภัยคุกคามเกิดได้จากทั้งบุคคลและภัยธรรมชาติที่เป็นสาธารณภัย 3) การติดตามตรวจสอบและประเมินสถานการณ์จึงต้องมีประสิทธิภาพและแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที ฉะนั้น จึงให้อำนาจ กอ.รมน.เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับต่อสถานการณ์และบูรณาการหน่วยงานรัฐทุกระดับ ขณะที่ กอ.รมน.จังหวัด ผอ.รมน.จังหวัด ยังคงเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด เหมือนกฎหมายเดิม แต่กฎหมายเก่าใช้โครงสร้างของฝ่ายปกครองสนับสนุนงาน กอ.รมน. ส่วนกฎหมายใหม่ที่แก้ไข ได้ดึงเอาผู้แทนทุกส่วนราชการจากทุกกระทรวงในจังหวัดมาร่วมในโครงสร้าง ทั้งอัยการจังหวัด เกษตร พาณิชย์ ศึกษาธิการ พลังงาน แรงงาน และสาธารณสุข โดยมีผู้แทนมณฑลทหารบกที่ดูแลพื้นที่จังหวัดร่วมอยู่ในโครงสร้าง และมีอำนาจในการจัดทำแผนป้องกันแก้ไขปัญหาภัยคุกคามทุกรูปแบบ รวมถึงงานด้านการรักษาความสงบเรียบร้อย ด้านเศรษฐกิจและสังคมของทุกส่วนราชการในจังหวัดที่เชื่อมโยง
ในส่วนของจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ประชุมได้ชี้แจงอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดนครศรีธรรมราชที่ได้รับการแต่งตั้ง เพื่อบูรณาการร่วมกันในการจัดทำแผนรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดในด้านต่าง ๆ กำหนดแนวทาง หรือมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับความมั่นคงภายในจังหวัด พิจารณาให้ความเห็นต่อแผนงานโครงการต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่อความมั่นคง ให้คำปรึกษา แนะนำ หรือสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่รักษาความมั่นคงภายในจังหวัด รวมถึงสามารถเชิญเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือบุคคลใดมาให้ข้อมูล หรือจัดส่งข้อมูลพร้อมหลักฐานประกอบ เพื่อประโยชน์ต่อความมั่นคงของชาติ และให้การทำงานของคณะกรรมการอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด สามารถดูแล และแก้ปัญหาความมั่นคงได้ในรอบด้าน โดยจะมีการนำประเด็นการร้องเรียนผ่านศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด มาพิจารณาการบูรณาการร่วมกันในการแก้ไขปัญหาในที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดจังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นประจำทุกเดือนด้วย
พรรณี มณีวรรณ/ภาพ-ข่าว
พาติเม๊าะ/ภาพ
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดนครศรีธรรมราช/// 13 กุมภาพันธ์ 2561