มรภ.สงขลา เพิ่มพื้นที่ป่าตามแนวพระราชดำริ สร้างมหา’ลัยสีเขียว ฉลองก้าวสู่ 100 ปีการก่อตั้ง
มรภ.สงขลา ปลูกป่าผสมผสานตามแนวพระราชดำริ 590 ต้น ปลุกสำนึกร่วมสร้างมหาวิทยาลัยสีเขียว ฉลองวาระก้าวสู่ 100 ปีการก่อตั้ง พ.ศ.2562
นายพิเชษฐ์ จันทวี รองอธิการบดีฝ่ายยุทธศาสตร์พัฒนาระบบการบริหารและพัฒนาหน่วยงาน มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยว่าโครงการปลูกป่าตามแนวพระราชดำริเพื่อมหาวิทยาลัยสีเขียว เนื่องในวาระครบรอบ 100 ปี ว่า โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานนาม “ราชภัฏ” และเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ในหลวงรัชกาลที่ 10 โดยสืบสานพระราชดำริด้านการฟื้นฟูสภาพป่า รักษาสภาพแวดล้อมและพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน นอกจากนั้น ยังเป็นการฉลองในวาระที่ราชภัฏสงขลาจะมีอายุครบรอบ 100 ปี การก่อตั้งโรงเรียนฝึกหัดครู วิทยาลัยครู สถาบัน สู่มหาวิทยาลัยราชภัฏ ในปี พ.ศ.2562 จึงส่งเสริมสนับสนุนให้คณะผู้บริหาร บุคลากร และนักศึกษา ตระหนักถึงความสำคัญของการปลูก ดูแลรักษาต้นไม้ และปลุกจิตสำนึกในการร่วมกันพัฒนาพื้นที่ให้เกิดความสะอาด ร่มรื่น และสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี ตามนโยบายมหาวิทยาลัยสีเขียว (green university) โดยการปรับภูมิทัศน์และปลูกต้นไม้ภายใน มรภ.สงขลา จำนวน 590 ต้น
นายอภิชาต พันชูกลาง อาจารย์ประจำโปแกรมวิชาเกษตรศาสตร์ คณะเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.สงขลา ผู้เสนอโครงการ กล่าวว่า ปัจจุบันสภาพพื้นที่ภายในมหาวิทยาลัยมีการพัฒนา เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และเทคโนโลยี รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงการบริหารจัดการในสถาบันอุดมศึกษาไทย จึงมีการใช้พื้นที่เพื่อปลูกสร้างอาคารสมัยใหม่รองรับการเรียนการสอนที่เพิ่มมากขึ้นมาโดยตลอด ส่งผลให้พื้นที่ป่าตามธรรมชาติลดลงอย่างมาก ทำให้สภาพภูมิอากาศร้อนขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน กอปรกับอาคารเรียนสมัยใหม่นิยมจัดภูมิทัศน์ตามแนวตะวันตก ที่เน้นความสะอาด สวยงามเรียบร้อย ต้นไม้ขนาดใหญ่จำนวนมากจึงถูกตัดทิ้ง ส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศและสภาพแวดล้อมในการเรียนการสอนของคณาจารย์ นักศึกษาภายในมหาวิทยาลัย รวมถึงความร้อนที่เกิดขึ้นจากยานพาหนะ ดังนั้น มรภ.สงขลา ซึ่งประกอบด้วยคณะผู้บริหาร บุคลากร และนักศึกษา ราว 500 คน จึงร่วมกันปลูกป่าฯ เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้แก่บริเวณโดยรอบมหาวิทยาลัย
ด้าน นายชัยสิทธิ์ บุญรังศรี เจ้าหน้าที่หน่วยอนุรักษ์พลังงาน มรภ.สงขลา กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้ ก่อนที่จะมีการปลูกป่า ทางคณะผู้จัดทำโครงการได้เชิญวิทยากร นายวีรพันธ์ พิชญ์พนัส หัวหน้าโครงการหมู่บ้านรักษ์ป่าลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา และ นายจิรพงศ์ สุขจันทร์ ข้าราชการเกษียณของมหาวิทยาลัย มาให้ความรู้เกี่ยวกับการปลูกป่าผสมผสานตามแนวพระราชดำริฯ พร้อมทั้งอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่องมหาวิทยาลัยสีเขียว จากนั้นจึงร่วมกันปลูกต้นไม้ในบริเวณที่กำหนด แบ่งออกเป็น 9 โซน ได้แก่ 1. ลานด้านหลังสำนักวิทยบริการฯ สำนักศิลปะและวัฒนธรรม อาคาร 9 และ รอบสระสนานใจ 2. ริมถนนบ้านพักข้าราชการ 3. อาคารสมาคมศิษย์เก่า 4. ลานจอดรถหน้าหอประชุม 1 5. ลานเบญจพรรณ 6. ระหว่างด้านหลังอาคาร 3 และอาคาร 5 ลานประดู่หลังอาคาร 2 7. ลานหน้าอาคาร 3 และลานคณะวิทยาการจัดการ (วจก.) 8. ริมถนนตั้งแต่ประตู 4 ถึงพื้นที่สถานีสัตวบาล และ 9. บริเวณด้านหลังอาคารคณะศิลปกรรม โดยขอรับการสนับสนุนพันธุ์ไม้จากศูนย์เพาะชำกล้าไม้ สงขลา ส่วนเพาะชำกล้าไม้ สำนักส่งเสริมการปลูกป่า กรมป่าไม้ ดังนี้ ไม้ตะเคียนทอง ไม้ตำเสา ไม้พะยอม ไม้ยางนา ไม้กฤษณา ไม้ทองอุไร ไม้หางนกยูงฝรั่ง ไม้ทวายหิน(สะเดา) ไม้ขี้เหล็ก ไผ่รวก และ ไม้สารภีทะเล ซึ่งเป็นต้นไม้ประจำ มรภ.สงขลา
นายปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์/หาดใหญ่/สงขลา